(เพิ่มเติม) รมว.พลังงาน เผยไทยเตรียมร่วมมือจีนสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมในทะเลจีนใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 30, 2013 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในเดือน ส.ค.นี้ไทยจะมีความร่วมมือกับจีนในการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน และหารือถึงความร่วมมือดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ความต้องการใช้พลังงานของประเทศในอนาคตคาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้มีแนวทางในการสร้างความมั่นคงพลังงาน โดยเร่งรัดจัดหาปิโตรเลียมทั้งในประเทศและนอกประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับการเติบโตทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทั้งหมดต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและยอมรับในการดำเนินการต่อการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม

ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องโดยตั้งเป้าหมายให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อย 25% ภายใน 10 ปี

"ในส่วนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเป็นแหล่งที่มีศักยภาพ ตอนนี้ยังไม่คืบหน้า เพราะประชาชทั้งสองฝ่ายมีความรู้สึกไม่ดีต่อกันต่อกรณีเขาพระวิหาร"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวในงานเสวนาเรื่อง"ระบบสัมปทานปิโตรเลียม รัฐได้ประโยชน์อย่างไร"ว่า อุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีความสำคัญ เห็นได้จากการใช้พลังงานในประเทศราว 81% มาจากปิโตรเลียม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

ที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เร่งรัดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด โดยพบและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย มากกว่า 60 แหล่งตั้งแต่ปี 29-55 โดยมีการผลิตก๊าซธรรมชาติไปแล้วจำนวนกว่า 17.15 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือคอนเดนเสท 490 ล้านบาร์เรล และน้ำมันดิบ 672 ล้านบาร์เรล

ทั้งนี้ ปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมาก่อเกิดประโยชน์ให้กับประเทศทั้งด้านรายได้ของรัฐ ในรูปของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เป็นจำนวนเงินถึงกว่า 1.32 ล้านล้านบาท โดยปี 55 รัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท

ด้านนายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ณ วันนี้ เราผลิตน้ำมันดิบได้ 1.5 แสนบาร์เรล/วัน คอนเดนเสท 9 หมื่นบาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติ 4.8 พันล้านลบ.ฟุต/วัน และนำเข้า LNG 5 ล้านตัน และเตรียมจะสร้างคลังเก็บ LNG เพิ่มอีก 5 ล้านตัน ทำให้เป็นที่น่ากังวลใจว่า หากมีการนำเข้าก๊าซมากก็จะทำให้ไม่มีวัตถุดิบหรือคอนเดนเสทในการเป็นวัตถุดิบผลิตปิโตรเคมี ซึ่งหากต้องนำเข้าแนฟทาเข้ามาแทนก็จะทำให้ความสามารถการแข่งขันด้านปิโตรเคมีหายไป

ขณะเดียวกัน ปริมาณสำรองปิโตรเลียมวันนี้ค่อยๆ ลดลง ทำให้มีความจำเป็นต้องเปิดสัมปทานรอบใหม่ คือรอบที่ 21 แต่แหล่งในประเทศก็ไม่ค่อยได้สำรวจพบมากนัก จากการเปิดสัมปทาน 3 รอบที่ผ่านมา คือรอบที่ 18-20 สำรวจพบแหล่งก๊าซเพียง 2 แหล่ง ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องท้าทายมาก

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 ปีนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะต้องดำเนินการ ได้แก่ การเปิดสัมปทานรอบที่ 21, พื้นที่ทับซ้อนไทยและกัมพูชา ซึ่งมีศักยภาพสูงแต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้อ และการต่ออายุแหล่งสัมปทานที่ บมจ.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม และ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ที่ใกล้จะหมดอายุแต่ยังมีปริมาณปิโตรเลียมอยู่จำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ