"การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทำให้เราสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้มากขึ้น ถ้าโครงการนี้มีความชัดเจนและประสบผลสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เรื่องไหนที่สามารถทำได้ก่อนควรรีบลงมือทำให้สำเร็จโดยเร็ว เนื่องจากจะทำให้ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์อย่างรวดเร็ว ถ้ามัวแต่รอประเทศของเราก็ไม่ไปข้างหน้า การทำโครงการพื้นฐานต่างๆ ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญในแต่ละโครงการ และต้องมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้"นายกลินท์ กล่าว
นอกจากนี้ การพัฒนาระบขนส่งทางท่อและทางเรือรัฐบาลควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกับการพัฒนาระบบราง เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับภาพรวมของโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกโครงการควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการประกอบด้วย
ส่วนผลลัพธ์เมื่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำเร็จลุล่วงแล้ว จะทำให้มีการกระจายรายได้เกิดขึ้นไปตามภูมิภาคต่างๆ และสามารถเชื่อมโยงระบบคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์อย่างมาก
ด้านนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเทศไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลตอบรับที่ดีมานานหลายปีและได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามกระแสของนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ซึ่งภาคการท่องเที่ยวได้สร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็น 8% ของ GDP โดยในปีนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 1.7 ล้านล้านบาท และในปี 57 คาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านบาท
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้อย่างสะดวกขึ้น และเป็นการกระจายรายได้ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
"โครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้น ช่วยทำให้รายได้กระจายไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และมีส่วนทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยใช้การท่องเที่ยวรูปแบบคลัสเตอร์ เช่น เชียงใหม่เราก็ไม่ได้ให้แค่เที่ยวเชียงใหม่อย่างเดียว แต่เราพ่วงจังหวัดเชียงรายเข้าไปด้วย โดยใช้เชียงใหม่เป็นตัวหลักในการประชาสัมพันธ์ การที่มีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เกิดขึ้นทำให้มีการกระจายรายได้ให้มีความสมดุลเกิดขึ้น" นางปิยะมาน กล่าว
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) กล่าวว่า โครงการลทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทเป็นส่วนสำคัญทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่แข็งแกร่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นการเชื่อมโยงระบบการขนส่งในประเทศและเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อบ้าน
"วันนี้เราต้องเพิ่มทางเลือกให้เพิ่มมากขึ้น ไม่แค่เฉพาะทางรางเท่านั้น ทางเรือ และทางพื้นดินก็ควรมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้น เพิ่มความรวดเร็วในการเดินทางเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกับการสื่อสารที่ปัจจุบันเน้นความรวดเร็วเป็นสำคัญ และทำให้เกิดการรับรู้และสามารถสัมผัสได้จริงๆ ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนที่มีความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในประเทศไทยมากขึ้น"นายศุภชัย กล่าว
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีส่วนช่วยให้ธุรกิจอื่นๆ มีการเติบโตตามไปด้วย เช่น ธุรกิจสื่อสารก็ต้องขยายโครงข่ายต่างๆ ให้มีความครอบคลุมเพื่อการเข้าถึงลูกค้าในแต่ละพื้นที่ โดยโครงสร้างพื้นฐานต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับภาคธุรกิจในภาพรวมทั้งหมดและมีการเติบโตไปพร้อมกัน
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ทำให้ธุรกิจที่ต้องมีการขนส่งสินค้ามีต้นทุนลดลงและสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ โดยต้นทุนการขนส่งเฉลี่ยของประเทศไทยในปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยที่สูงอยู่ที่ 15-16% ของ GDP เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6-8% ของ GDP
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดการลงทุนต่างๆ และการเชื่อมโยงมากขึ้น เช่น การค้าชายแดนที่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะมีการเติบโตมากขึ้น และทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีความเชื่อมโยงสามารถเข้าถึงประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวก และในภูมิภาคต่างๆ จะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ไปตามภูมิภาค ไม่เกิดการกระจุกตัวอยู่ในเมืองหรือตามหัวเมืองหลัก
"การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นการตอกย้ำความเจริญของประเทศ และเป็นการเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้เกิดการลงทุนต่างๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย แต่ตอนนี้โครงการยังไม่แน่ชัด อยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันให้เกิดความสำเร็จ เพราะจะทำให้ประเทศไทยและเศรษฐกิจของชาติมีการขับเคลื่อนไปข้างหน้า เช่นประเทศอื่นๆ ที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา"นายพยุงศักดิ์ กล่าว