ผู้ว่าธปท.เตือนรับมือความผันผวนศก.-วางแผนเพิ่มศักภาพในระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 31, 2013 08:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา"เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก อนาคตประเทศไทย" จัดโดย สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงจังหวะที่ดีที่ได้มีการเสวนากันในเรื่องนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ของเศรษฐกิจทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในสถานการณ์ปัจจบันมองว่าควรจะมีการเตรียมรับมือในทุกๆ ด้านเป็นเป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจได้ทางหนึ่ง

โดยในระยะสั้นมองว่าควรจะมีการติดตามแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และคาดการณ์ผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย และหาวิธีในการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการวางแผนในระยะยาวด้วยว่า หากต้องการที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคงมีภูมิคุ้มกันตนเองจากความผันผวนต่างๆที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้จะมีทั้งหมด 4 ข้อหลักๆในการเตรียมการและพัฒนาประเทศในระยะยาว ด้านแรกคือ การสร้างความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยต้องมีการปรับรูปแบบโครงสร้างการขนส่งของประเทศเพื่อให้สามารถลดต้นทุน Logistics ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยจะสามารถลดต้นทุนด้าน Logistics ไทยได้อย่างน้อย 2% ของ GDP

ด้านที่สอง การทำให้คนในประเทศมีพัฒนาการด้านสุขภาพและการศึกษา จะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขและระบบการศึกษาทั้งด้านคุณภาพและการเข้าถึงของประชาชน

ด้านที่สาม การสร้างความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการลงทุนหรือสร้างระบบที่ช่วยจูงใจให้มีการลงทุนและการศึกษาด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านสุดท้าย คือการทำให้ตลาดแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากอัตราการว่างงานของเดือน เม.ย. ที่ผ่านมามีอยู่เพียง 0.9% ทำให้เกิดภาวะการตึงตัวถือเป็นข้อจำกัดในด้านโครงสร้างที่สำคัญต่อการขยายตัว นอกเหนือจากนี้ยังมีปัญหาความไม่ตรงกันระหว่างความต้องการจ้างงานกับทักษะของลูกจ้างที่ไม่ตรงกัน ซึ่งการพัฒนาคุณภาพของคนในด้านการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง จะทำให้นายจ้างได้รับแรงงานที่ตรงกับทักษะมากขึ้น

นายประสาร กล่าวต่อว่า เอกชนถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากการแข่งขันในประเทศและต่างประเทศจะทำให้เอกชนมีการพัฒนาอยู่เสมอ ทั้งเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิต ทั้งยังมองว่ายังมีสิ่งที่สำคัญคือการประสานความร่วมมือกับภาครัฐในการให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อนโยบายของภาครัฐหรือเรื่องที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ จะทำให้ภาครัฐเข้าใจสิ่งที่ภาคธุรกิจเผชิญอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐมีนโยบายที่เอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพของภาคเอกชน

ด้านภาครัฐ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ แต่การที่จะเติบโตไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ก็ต้องมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดีและตอบความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งควรมี 4 ประการหลักๆ ประการแรกคือ เป็นนโยบายที่มองไกลไปในอนาคตและมุ่งหวังสร้างการเติบโตให้กับประเทศอย่างยั่งยืน

ประการที่สอง เป็นนโยบายที่มีความต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว

ประการที่สาม เป็นนโยบายที่มีความสอดคล้องกัน ในระดับผู้นำต่างๆเพื่อให้ในระดับนโยบายใหญ่และนโยบายย่อย ให้ไปในทิศทางเดียวกัน

ประการที่สี่ มุ่งเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทำแล้วคุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดการศูนย์เสียโอกาส ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการใดๆจะต้องมีการจัดลำดับว่าสิ่งไดจะทำก่อนหรือหลัง เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จะต้องเลือกโดยดูความคุ้มค่าของโครงการเป็นที่ตั้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพให้แก่ประเทศ

ในส่วนของนโยบายทางด้านการเงิน มีเป้าหมายในการดูแลเสถัยรภาพของเศรษฐกิจควบคู่กับการสร้างให้มีการเติบโตที่มีความสมดุลกัน และความสามารถในการประคองเศรษฐกิจในอนาคตเมื่อมีความจำเป็นโดยเครื่องมือที่สำคัญคืออัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

นายประสาร ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยและปัญหาข้อจำกัดในการเติบโต มองในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงเวลาของการปรับตัวและยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ส่วนระยะยาว การจะให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างมั่นคง ต้องมีการเตรียมความพร้อมของประเทศทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคน ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงด้านตลาดแรงงานที่มีการเติบโตช้าต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งต้องมีการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนมองเห็นเป้าหมายที่ประโยชน์สูงสุดของประเทศ จะทำให้ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ