(เพิ่มเติม) ธปท.เผย ศก.เดือน มิ.ย.ชะลอลงต่อเนื่องตามอุปสงค์ต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 31, 2013 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนมิถุนายน 2556 ว่า เศรษฐกิจชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลงโดยเฉพาะจีน ส่งผลให้การส่งออกสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนหดตัว ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัว ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราเงินเฟ้อชะลอลง อัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อย ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย และดุลการชำระเงินขาดดุล

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าลดลงตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอลงโดยเฉพาะจีน ประกอบกับมีปัญหาด้านอุปทานจากการขาดแคลนกุ้งเนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด และปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส่งผลให้การส่งออกมีมูลค่า 18,818 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของการส่งออกสินค้าเกษตร ประมง และอุตสาหกรรมโดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรแปรรูป

การส่งออกที่ชะลอลงทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญทั้งอาหารทะเลแปรรูปและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ขณะที่การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน

ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 4.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยการนำ เข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวโดยเฉพาะเพื่อใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ประกอบกับเป็นผลของฐานสูงในปีก่อนที่ผู้ประกอบการเร่งลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากมหาอุทกภัย ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชยกรรมที่เพิ่มขึ้น

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และปริมาณการใช้เชื้อเพลิง ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์หดตัว ส่วนหนึ่งจากการส่งมอบรถยนต์ในมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรกทยอยหมดลงประกอบกับคำสั่งซื้อใหม่มีน้อยลง

การส่งออกสินค้าและการลงทุนที่หดตัว ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน รวมทั้งสินค้าทุนลดลง ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว สอดคล้องกับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน โดยการนำเข้ามีมูลค่า 18,230 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากหักการนำเข้าเชื้อเพลิงและทองคำ การนำเข้ามีมูลค่า 12,394 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 5.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน

รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 12 จากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งปริมาณและราคา ด้านปริมาณขยายตัวร้อยละ 8.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเมื่อหลายปีก่อนเป็นสำคัญ แม้ผลผลิตข้าวและกุ้งลดลง ส่วนราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคากุ้งที่ผลผลิตลดลงเนื่องจากปัญหาโรคระบาด ราคาปศุสัตว์จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และราคามันสำปะหลังที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ราคายางพารายังคงหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามคำสั่งซื้อจากจีนที่ชะลอลง

สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.1 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย อินเดีย และรัสเซีย

รายจ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นตามรายจ่ายเงินโอน จากการคืนเงินภาษีสรรพสามิตตามมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก เงินอุดหนุนกองทุนหมู่บ้านและรัฐวิสาหกิจ ส่วนรายได้ขยายตัวจากภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสำคัญ รายได้ที่มากกว่ารายจ่ายทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 168.1 พันล้านบาท

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ตามการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารสด ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการขายพันธบัตร รัฐบาลและ ธปท. รวมทั้งตราสารทุนของนักลงทุนต่างชาติตามการเปลี่ยนแปลงของความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลก ส่วนดุลการชำระเงินขาดดุล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ