โดยพืชชนิดแรกที่กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีทิศทางที่เป็นไปได้และมีความต้องการของตลาดเป็นตัวนำ คือ อ้อย ที่มีข้อมูลว่าโรงงานน้ำตาลทั้งประเทศมีความต้องการถึง 200 ล้านตัน ขณะที่มีผลผลิตป้อนเข้าสู่โรงงานเพียง 100 ล้านตัน จึงยังมีความต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยถึง 10 ล้านไร่ ซึ่งเบื้องต้นจากการคัดแยกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว และพิจารณาถึงพื้นที่โรงงานน้ำตาลที่อยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร พบว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยประมาณ 4.1 ล้านไร่
ดังนั้น สิ่งที่จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะต้องดำเนินการคือ การสำรวจข้อมูลความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่จริง โดยให้เกษตรกรทำแบบสอบถามที่จะมีรายละเอียดความต้องการที่จะให้รัฐเข้าไปสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงพืชที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนหากเกษตรกรต้องการเข้าร่วมโครงการ รวมถึงกรณีที่ไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อให้รัฐได้ข้อมูลที่แน่ชัดก่อนกำหนดเป็นมาตรการจูงใจโดยใช้ข้อมูลความต้องการจริงในพื้นที่มาเป็นข้อมูลพื้นฐานต่อไป ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะรายงานผลการสำรวจมายังกระทรวงมหาดไทยภายในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ก่อนนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 5 ส.ค.นี้
สำหรับการประชุมทางไกลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายโซนนิ่งของทุกจังหวัด เพื่อเป็นการเร่งรัดและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเพื่อให้เห็นผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งหลายๆ จังหวัดได้เริ่มขับเคลื่อนแผนโซนนิ่งโดยพิจารณาพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกของตนเองแล้ว เช่น การปรับพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยในจังหวัดกำแพงเพชร บุรีรัมย์ หรือการเพิ่มพื้นที่ปลูกมันทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น