"บัณฑิต"แนะรัฐปรับเกณฑ์เอื้อตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโตรับเมกะโปรเจกท์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 31, 2013 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ธุรกรรมตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมีการเติบโตที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกับตลาดตราสารหนี้ที่เติบโตดีโดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีนี้ แต่ผลิตภัณฑ์และการใช้ประโยชน์ หรือการจัดหาแหล่งเงินทุนจากธุรกรรมนี้ของไทยมีน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศทั้งสหรัฐยุโรป รวมถึงเอเชียที่ส่วนใหญ่เพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นเพราะแรงจูงใจการซื้อขายในตลาดรองมีไม่เพียงพอ กฎเกณฑ์ต่างๆ อาจต้องได้รับการแก้ไข เช่น ในแง่ภาษีเพื่อรองรับนักลงทุนรายย่อย รวมถึงการกำกับดูแลที่ต้องเอื้อต่อการลงทุน

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับตราสารประเภทนี้ไม่ดีนัก เพราะในระยะ 6-7 ปีที่ผ่านมา ตราสารดังกล่าวเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤติซัพไพร์มในสหรัฐ

"เสนอแนะให้ทางการเข้าไปดูแลกฏเกณฑ์ตรงไหนที่ไม่เอื้อ หรือสนับสนุนให้เกิดธุรกรรมนี้ ความคล่องตัวของธนาคารพาณิชย์ การปรับสภาพคล่อง เพราะตลาดที่อยู่อาศัยมีการโตต่อเนื่อง มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ดีในการออกตราสารดังกล่าว"นายบัณฑิต กล่าว

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจ เพราะประเทศจะมีการลงทุนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาทที่คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในเดือนหน้า ซึ่งการบริหารสภาพคล่องผ่านช่องทางดังกล่าวจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์เป็นวิธีการช่วยระดมเงินทุนได้

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า การออกตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินทรัพย์ถือว่ามีประโยชน์ แต่ยังไม่ได้รับความนิยม อาจเป็นเพราะกฎเกณฑ์ยังขาดความชัดเจนและปฏิบัติได้ยากไม่ครอบคลุมในบางเรื่อง เช่น การแปลงสินทรัพย์ดังกล่าวจะต้องใช้งบดุล(Balance sheet) ซึ่งธนาคารพาณิชย์อาจติดขัดเรื่องนี้ แต่ก็เชื่อว่ากลไกนี้สามารถปรับปรุงแก้ไขได้

นอกจากนี้ บางเรื่องอาจไม่ครอบคลุมวิธีการและรูปแบบในระบบสากล ซึ่งในต่างประเทศมีการปรับปรุงดีขึ้นมาก หลังเกิดวิกฤติซัพไพร์มไปแล้ว โดยหลายประเทศกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งมีเครื่องมือต่างๆ ออกมา ทำให้กลุ่มนักลงทุนให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งก.ล.ต.ก็พยายามดูแลเรื่องนี้เช่นเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ