ขณะที่ ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับมาเผชิญกับภาวะชะลอตัวอีกครั้ง ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงปลายปี 2555 แต่กระนั้น จุดเปลี่ยนของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมไปถึงสถานการณ์หนี้ยูโรโซน หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งในเยอรมนีไปแล้ว ก็นับเป็นตัวแปรจากเศรษฐกิจโลกที่อาจมีนัยต่อเนื่องต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ภาพรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนของไทยในระหว่างช่วงไตรมาส 2/2556 สะท้อนทิศทางของโมเมนตัมเศรษฐกิจที่หมุนช้าลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1/2556 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีประจำไตรมาส 2/2556 น่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่กรอบประมาณร้อยละ 2.0-3.0 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 (YoY) ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีหลายตัวแปรที่ไม่แน่นอน อาทิ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีภาพที่คลุมเครือในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 โดยเฉพาะจากความเปราะบางของสถานการณ์เศรษฐกิจจีน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีอย่างระมัดระวัง เนื่องจากจีนไม่ใช่เป็นแค่เพียงตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของไทยเท่านั้น แต่จีนยังมีบทบาทเป็นคู่ค้ารายสำคัญของประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งย่อมจะมีผลทางอ้อมย้อนกลับมากระทบจังหวะการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกบางรายการของไทยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ฐานมูลค่าการส่งออกที่ต่ำของช่วงเดียวกันปีก่อน สัญญาณที่เริ่มมีภาพที่นิ่งมากขึ้นในกลุ่มเศรษฐกิจที่เป็นแกนนำของโลก (ซึ่งส่วนหนึ่งช่วยให้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพมากขึ้น) ตลอดจนการยืนยันภารกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของทางการจีนในช่วงครึ่งปีหลัง ก็อาจเพียงพอที่จะช่วยหนุนให้การส่งออกไทย สามารถพลิกกลับมาบันทึกอัตราการเติบโตได้อีกครั้งในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 อาจเติบโตได้อย่างน้อยร้อยละ 3.0 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่ขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำเพียงร้อยละ 1.2 (YoY) ในช่วงครึ่งแรกของปี
สำหรับทิศทางการใช้จ่ายในประเทศนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะถูกปกคลุมไปด้วยภาพที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าครองชีพ/ภาระหนี้ครัวเรือน รวมถึงการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในช่วงที่รอประเมินแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองในประเทศ นอกจากนี้ ปริมาณจำหน่ายสินค้าคงทน (อาทิ รถยนต์) และกึ่งคงทนบางรายการ ก็อาจเผชิญกับภาวะหดตัวในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของครึ่งปีหลังด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปราศจากแรงหนุนใหม่ๆ มากระตุ้นการใช้จ่าย
สำหรับภาพรวมในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ร้อยละ 3.8-4.3 (โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 4.0) ซึ่งก็เท่ากับว่า เศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงทิศทางที่แผ่วลงจากปี 2555 ซึ่งขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5 ไปได้
นอกจากนี้ คาดว่า การเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2556 ก็อาจเป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยประคองให้อุปสงค์ในประเทศ ยังคงรักษาทิศทางการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่อง