ทั้งนี้ จะตรวจสอบผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศกว่า 200 ราย ยกเว้นผู้ค้าที่เป็นกลุ่มสหกรณ์ ผู้ค้าชายแดน และรัฐวิสาหกิจ ทั้งองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)
สำหรับสาเหตุที่จะต้องตรวจสอบสต๊อกของผู้ส่งออกเป็นเพราะผู้ส่งออกบางรายมักจะโจมตีรัฐบาลว่าไม่เปิดประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาล ทำให้ไม่มีข้าวไปส่งออก และเสียออร์เดอร์ อีกทั้งยังกล่าวหาอีกว่า รัฐบาลมักเปิดขายแบบลับๆ ไม่ได้เปิดประมูลเป็นการทั่วไปให้ผู้ส่งออกทุกรายสามารถแข่งขันได้ แต่เมื่อรัฐบาลเปิดประมูลแล้ว 2 ครั้งเมื่อวันที่ 26 และ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา กลับมีผู้ส่งออกเข้าร่วมประมูลไม่มากนัก และมักจะเป็นรายเดิมๆ แต่ผู้ที่โจมตีรัฐบาลไม่ยอมเข้าร่วม "การที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมการประมูลข้าว อาจหมายถึงว่ามีข้าวในสต๊อกครบ 500 ตัน จึงไม่จำเป็นต้องประมูลซื้อข้าวรัฐไปส่งออก หรือถ้าอ้างว่าไม่เข้าร่วมเพราะข้าวรัฐคุณภาพต่ำ ก็ไม่เห็นคนที่พูดไปตรวจสอบคลังสินค้าซักราย แล้วจะโจมตีรัฐบาลทำไมว่าขายให้แต่รายใหญ่ หรือไม่เปิดประมูล เพราะการประมูลทั้ง 2 ครั้ง พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีผู้ส่งออกต้องการไม่กี่ราย"นายยรรยงกล่าว
สำหรับเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ นายยรรยง กล่าวว่า ยังยืนยันที่ 8.5 ล้านตันตามเดิม เพราะเป็นเป้าหมายทำงาน
ส่วนแผนการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์นั้น จะเร่งเปิดประมูลอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 2 ครั้ง และจะเริ่มระบายผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) ให้เร็วที่สุดวันที่ 11 ส.ค.นี้ ระหว่างงานมหกรรมข้าวไทย ที่จ.นครสวรรค์ นอกจากนี้ จะเร่งเดินหน้าเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และเร่งรัดให้ลูกค้าต่างชาติที่ทำสัญญาไปแล้วมารับมอบข้าวให้เร็วขึ้น