(3) จัดให้มีกลไก ในการเจรจาประนอมหนี้ที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของลูกหนี้เพื่อให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพและสามารถชำระหนี้ได้ และป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก และ (4) ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจะคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนในเขตชนบท ซึ่งชุมชนเมืองจะมีความสัมพันธ์ในชุมชนไม่เข้มแข็งเท่ากับชุมชนในเขตชนบท จึงต้องมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม
ในระยะต่อไป กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะดำเนินการประสานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคัดเลือกกองทุนสวัสดิการชุมชนหรือองค์กรการเงินชุมชนที่มีศักยภาพและเข้มแข็งและมีความประสงค์จะเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือประชาชนในชุมชน เพื่อจัดทำโครงการนำร่องในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในพื้นที่ต่าง ๆ หากประสบผลสำเร็จก็จะใช้เป็นต้นแบบสำหรับชุมชนอื่นต่อไป รวมทั้งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจจัดตั้งจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบให้ครบทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจะกำหนดให้การแก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบเป็นภารกิจหนึ่งของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
นอกจากนี้จะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจพิจารณา ให้มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนในระดับฐานรากให้มากขึ้น และให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายการดำเนินการไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลเพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น
สำหรับแนวทางดังกล่าวจะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เน้นสาเหตุของปัญหา คือ การพัฒนาศักยภาพในการหารายได้ให้เพียงพอกับรายจ่าย การบริหารจัดการด้านการเงินของตนเองให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในทางการเงินรวมทั้งให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านองค์กรการเงินชุมชนที่เข้มแข็งและมีศักยภาพควบคู่ไปกับการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะจัดตั้งหน่วยงานให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในระดับพื้นที่เป็นการเฉพาะ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างตรงจุดและคำนึงถึงบริบทของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกัน