ส่วนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า โดยเร่งสร้างและปรับปรุงระบบส่งเก่า ได้แก่ การเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ 500 เควี ภาคตะวันตก— ภาคใต้ สำหรับจุดที่มีความเสี่ยงและมีความสำคัญต่อประเทศ จะเร่งผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะถูกปลดออกจากระบบไฟฟ้าในพื้นที่เดิม คือ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้แห่งละ 1 ชุด 900 เมกะวัตต์ ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2561 เพื่อป้องกันการขาดกำลังผลิตบริเวณเขตนครหลวงตอนล่าง พร้อมทั้ง เร่งรัดงานก่อสร้างยกระดับแรงดันสายส่ง 500 เควี ไทรน้อย — บางกอกน้อย และ สายส่ง 500 เควี ไทรน้อย — แจ้งวัฒนะ จากปัจจุบัน 230 เควี เพื่อช่วยป้องกันไฟฟ้าดับในกรุงเทพฯ กรณีเกิดเหตุขัดข้องของท่อก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่า และรักษาระดับความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตลอดจน การพัฒนาระบบไฟฟ้าในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังต้องเร่งดำเนินการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคตตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าผู้ผลิตเอกชนรายเล็ก (SPP) และรายเล็กมาก (VSPP) ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน ASEAN Power Grid (APG) เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดย กฟผ. กำลังพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า Main Trunk 500 เควีหลัก เพื่อรองรับ APG ในทุกภาคของประเทศ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ พัฒนาพลังงานไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถูก สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงของพลังงาน เนื่องจากการพึ่งพิงเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งในการผลิตไฟฟ้า จะทำให้ราคาผันผวน และมีความเสี่ยง จึงต้องมีการพัฒนาควบคู่กัน ทั้งพลังงานหลัก และพลังงานทดแทน ซึ่งเชื้อเพลิงถ่านหินเป็นทางเลือกที่จะพัฒนาไปได้มากกว่า เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตไฟฟ้าโดยไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ อีกทั้งนานาประเทศใช้ผลิตไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลาย
นายสนชัย กล่าวว่า กฟผ. ยังมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยมีแผนสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริมการผลิต การใช้ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม โดยจะผลักดันโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เกิดจากงานวิจัยให้เป็นโรงไฟฟ้าตัวอย่าง รวมทั้ง ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่หน่วยงานภาคเอกชนดำเนินการได้ยาก ซึ่งตั้งเป้าหมายให้สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อย ร้อยละ 25 ภายในระยะเวลา 10 ปี ตามนโยบายภาครัฐ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากการหมักหญ้าเนเปียร์ เป็นต้น
กฟผ.เตรียมจัดตั้งกองทุนสาธารณูปโภค (infrastructure fund) สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 2 ประเดิมกองทุนภาครัฐกองแรก เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาร่วมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือโรง 2 ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในโครงการทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างเริ่มการก่อสร้าง และจะส่งไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2558 โดยในส่วนของกองทุนฯ คาดว่าจะเป็นวงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท และจะเริ่มเสนอขายประชาชนได้ภายในต้นปี 2557 ซึ่งจะใช้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 2 เป็นหลักประกัน
"ค่าไฟฟ้าในอนาคตจะมีต้นทุนจะเพิ่มขึ้น ตามเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น แต่ค่าไฟฟ้าเอฟที ในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2556 นี้จะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดย กฟผ.พร้อมรับภาระไปก่อน ซึ่งใช้วงเงินไม่มากนัก โดยจะรับภาระประมาณ 5-6 สตางค์ต่อหน่วย หรือไม่เกิน 2 พันล้านบาท"นายสนชัย กล่าว