“ถ้าชุมนุมอยู่ในกรอบ ต่อให้มี พ.ร.บ.มั่นคงฯ ก็ไม่กระเทือนเศรษฐกิจ แต่หากมันรุนแรงขึ้น ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทำให้คนลดพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ยังมีโอกาสลดตามภาวะทางการเมือง แต่ทั้งนี้ก็มีโอกาสจะฟื้นตัวขึ้นได้ในไตรมาส 4" นายธนวรรน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ยังประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ยังสามารถเติบโตได้ในกรอบ 4.0-4.5% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(CPI)ทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะโตได้ราว 4%
อย่างไรก็ดี ได้แยกประเมินสถานการณ์ตามระดับความรุนแรงของการชุมนุมทางการเมืองที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยไว้ 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับแรก หากการชุมนุมทางการเมืองสามารถยุติได้ภายใน 3 เดือน และเป็นการชุมนุมที่อยู่ในกรอบประชาธิปไตย จะมีผลกระทบต่อ GDP ปีนี้ให้ลดลงราว 0.1-0.2% มาเหลือ 4.1-4.2% จากที่ประเมินไว้ 4.3%
แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อและเริ่มมีเหตุการณ์ปะทะในระดับที่ค่อนข้างรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นสำหรับการท่องเที่ยวไทยนั้น ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ GDP ปีนี้ให้ลดลงราว 0.2-0.3% มาเหลือ 4.0-4.1%
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองมีความรุนแรงสุด จนถึงในระดับที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยว หรือมีการแจ้งเตือนจากสถานทูตต่างๆ ในการให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ GDP ปีนี้ให้ลดลงถึง 0.5% โดยอาจโตเหลือเพียง 3.8% เท่านั้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะนี้อาจจะยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนนักว่าสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.เป็นต้นไปนี้จะมีความรุนแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศมากน้อยเพียงใด ดังนั้นในเดือนหน้าศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ จะมีการสะท้อนภาพผลกระทบต่อการชุมนุมทางการเมืองที่มีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอีกครั้ง