จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด 4 ด้าน รวม 10 มาตรการหลัก หรือ แบ่งเป็น 20 มาตรการย่อยนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ยืนยันว่า เป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสนับสนุน ซึ่งหากสามารถดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เชื่อว่าจะช่วยในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้อีก 1% ของ GDP จากปัจจุบันที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า GDP ในปีนี้จะเติบโตได้ 4-4.5%
"ในมุมมองของ สศค.ให้พิสัยบนไว้ที่ 4.5% ส่วนพิสัยล่างอยู่ที่ 4.0% ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ถ้าทำตามมาตรการนี้เศรษฐกิจก็มีโอกาสจะโตกว่าที่คาดอีก 1%ของ GDP หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท...ทุกเรื่องที่กำหนดเป็นมาตรการนั้นเป็นมากกว่าการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชั้นแรก แต่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในระยะยาว ไม่ใช่การกระตุ้นการใช้จ่ายให้เสญเปล่า หรือกระตุ้น GDP เพียงประเดี๋ยวประด๋าว"นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า มาตรการทั้งหมดหากมาตรการในส่วนใดพร้อมก่อนก็สามารถดำเนินการได้ทันที เช่น ในส่วนของการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ
"ทุกมาตรการไม่จำเป็นต้องดำเนินการพร้อมกัน มาตรการใดที่มีความพร้อมก็ให้ดำเนินการไปก่อน คาดว่า จะเริ่มใช้มาตรการทั้งหมดได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ และมาตรการจะเริ่มเห็นผลได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป" รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังระบุ