โดยได้ทำการวิจัยพัฒนายางล้อตันทนน้ำมันสำหรับรถฟอร์คลิฟต์ที่ใช้ในห้องเย็นปลา ซึ่งเป็นโจทย์การวิจัยที่ได้จากการประชุมระดมสมองระหว่างหน่วยงานวิจัยและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง 3 กลุ่ม คือ ยางล้อ ผลิตภัณฑ์จากน้ำยาง และยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม โดยวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตยางล้อตัน คือ ยางธรรมชาติ (NR), ยางสังเคราะห์ชนิดสไตรีนบิวทาไดอีน (SBR) และบิวทาไดอีน (BR) ซึ่งยางเหล่านี้จะไม่ทนต่อน้ำมันที่อยู่ในโรงงานแปรรูป แช่แข็งเนื้อสัตว์ และโรงงานที่ผลิตน้ำมันพืช เมื่อยางล้อตันสัมผัสกับน้ำมัน จะบวม เสียรูปทรง และมีอายุการใช้งานสั้น ในการวิจัยจึงได้ทำการทดลองเพิ่มยางสังเคราะห์ที่มีสมบัติทนน้ำมัน ได้แก่ ยางอะคริโลไนไทรล์บิวทาได (NBR) แทนที่ยางธรรมชาติบางส่วน ทำให้ดอกยางที่ได้มีความแข็งเพิ่มขึ้น และมีสมบัติความทนต่อน้ำมันดีขึ้นร้อยละ 40 แต่ความทนต่อแรงดึงลดลงและเกิดความร้อนสะสมมากขึ้นเล็กน้อย
ส่วนในระยะต่อไปจะทำการสร้างต้นแบบยางล้อตันและทำการทดสอบโดยวิ่งบนพื้นถนนเทียม เพื่อประเมินสมรรถนะด้านความทนทานของยางล้อตันทนน้ำมัน และทำการทดสอบการใช้งานในสถานประกอบการที่มีการปนเปื้อนของน้ำมันในสภาพใช้งานจริงของรถฟอร์คลิฟต์ โดยจะทำให้ ได้ยางล้อตันที่มีความทนต่อน้ำมันและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้น นี่คือการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการยางล้อในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างดีเยี่ยม
ท้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางพาราได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีการผลิตปีละประมาณ 3.5 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่ส่งออกในรูปของยางแปรรูปขั้นต้นถึงร้อยละ 86 ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่า 8,745.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนที่เหลือร้อยละ 14 นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 8,411.59 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายสมชาย กล่าวว่า หากเพิ่มการใช้ยางมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนจากผู้ส่งออกวัตถุดิบไปเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางได้ อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและมีความต่อเนื่อง