ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้ติดตามภาวะการส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิพิเศษฯ GSP สหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 (ม.ค.-พ.ค.) ปรากฎว่าสินค้าบางรายการอาจมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เกินเพดานที่สหรัฐฯ กำหนด คือ มีส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 หรือมีมูลค่าการส่งออกเกินเพดานที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ ซึ่งในปี 2556 เท่ากับ 160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเบื้องต้นพบว่ามีสินค้าที่อาจส่งออกเกินระดับเพดานที่สหรัฐฯ กำหนดจำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย อาหารปรุงแต่ง, เลนส์แว่นตา, กล้องถ่ายโทรทัศน์ และมะม่วงปรุงแต่ง
สำหรับสินค้าที่คาดว่าจะส่งออกเกินเพดานทั้ง 4 รายการ เนื่องจากในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง และหากอัตราการส่งออกมีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังอาจทำให้มูลค่าส่งออกเกินเพดานที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งสินค้าดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ GSP จะต้องเสียภาษีนำเข้าปกติในปีถัดไป
"ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ส่งสินค้าดังกล่าวติดตามสถานการณ์การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อยื่นคำร้องขอคงสิทธิ GSP ตามระยะเวลาที่สำนักงานฯ USTR ประกาศไว้" นางปราณี กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับสินค้าที่คาดว่าจะมีมูลค่านำเข้าเกินเพดานที่สหรัฐฯ กำหนดนั้น ผู้เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิ GSP ได้ภายในวันที่ 22 พ.ย.56 ก่อนเวลา 17.00 น.(เวลาในสหรัฐฯ) ขณะที่ผู้ส่งออก/ผู้นำเข้า หรือผู้เกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP (Product Petitions) และการดำเนินการของประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP (Country Practices) ได้ภายในวันที่ 4 ต.ค.56 ก่อนเวลา 17.00 น. (เวลาในสหรัฐฯ)
นางปราณี กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค.56 สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ได้แถลงข่าวในกรรมาธิการว่ามีการเสนอร่างกฎหมายต่ออายุโครงการ GSP ฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการต่ออายุโครงการออกไปตามเงื่อนไขเดิมอีก 2 ปี 2 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค.56 - 30 ก.ย.58
เนื่องจากขณะนี้โครงการ GSP ได้หมดอายุลงแล้วเมื่อ 31 ก.ค.56 ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ในรายการที่ได้รับสิทธิ GSP จากทุกประเทศที่เคยได้รับสิทธิ GSP รวมทั้งประเทศไทย จะต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติ(MFN)ไปยังสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค.56 เป็นต้นไป จนกว่ารัฐสภาสหรัฐฯ จะอนุมัติให้ต่ออายุโครงการ GSP
อย่างไรก็ตาม รัฐสภาสหรัฐฯ จะทบทวนร่างกฎหมายต่ออายุโครงการ GSP อีกครั้งประมาณต้นเดือนก.ย.56 ทั้งนี้หากกฎหมายต่ออายุสิทธิ GSP ผ่านการอนุมัติแล้ว ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าโดยเสียภาษีอัตราปกติก่อนหน้าการอนุมัติฯ สามารถขอคืนภาษีย้อนหลัง (Retroactive) จากศุลกากรสหรัฐฯ ได้หากสินค้านำเข้าดังกล่าวเป็นสินค้าในรายการที่ได้รับสิทธิ GSP ที่นำเข้าตั้งแต่ 1 ส.ค.56 ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในการต่ออายุโครงการ GSP ตั้งแต่ปี 36-54
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรแจ้งผู้นำเข้าขอสงวนการใช้สิทธิ GSP ในเอกสารการนำเข้าสหรัฐฯ (Form 7501) ซึ่งเป็นฟอร์มที่ใช้สำหรับประเมินอากรขาเข้า เพื่อให้ได้รับคืนอากรขาเข้า (Refund) เมื่อกฎหมายต่ออายุ GSP ฉบับใหม่ผ่านรัฐสภาและกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีอากรขาเข้ามีผลย้อนหลัง
สำหรับประเทศที่ใช้สิทธิ GSP สูง 3 อันดับแรกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 (ม.ค.-พ.ค.) อันดับแรกอินเดีย มูลค่าการใช้สิทธิ 1,800 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 22.79% อันดับสองไทย มูลค่าการใช้สิทธิ 1,386 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 17.54% และอันดับสาม บราซิล มูลค่าการใช้สิทธ 1,055 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 13.36%
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 ไทยมีการขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1,380 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีนำเข้าได้กว่า 55 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,660 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิพิเศษฯ GSP สูง ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ, ถุงมืดยาง, อาหารปรุงแต่ง, เครื่องดื่มอื่นๆ, ชุดสายไฟสำหรับรถยนต์, ผลไม้ปรุงแต่ง, เลนส์แว่นตา และพัดลม เป็นต้น