นายกฯ ตรวจเยี่ยมร.ฟ.ท. พร้อมย้ำผลักดันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 8, 2013 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนากิจการรถไฟไทย พร้อมผลักดัน 3 ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยระบุว่า โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างการดำเนินการขออนุมัติจากรัฐสภา เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศในด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ไม่ใช่แค่การเดินทางแต่เป็นการนำความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของประเทศ

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเป็นประธานมอบนโยบายการพัฒนากิจการรถไฟ และเยี่ยมชมนิทรรศการ "Thailand 2020" และ "รถไฟ... เส้นทางแห่งความสุข และความภูมิใจของคนไทยทั่วประเทศ" พร้อมด้วยคณะ ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม, พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง, นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย, หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง, ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น

"ในอดีต รถไฟเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งในการเดินทางของประชาชน ที่ต้องการความรวดเร็ว แต่ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถไฟได้ลดความสำคัญลงไป เนื่องจากประเทศไทยขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมมานาน ทำให้สูญเสียโอกาสในการแข่งขัน และการลงทุนจากต่างประเทศ"

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนากิจการรถไฟของประเทศ ซึ่งในขณะนี้ได้มีการพิจารณาอยู่ พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆ ทั้งจากแหล่งเงินงบประมาณประจำปี และการดำเนินการภายใต้ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีเศรษฐกิจที่มั่นคงควบคู่กับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การลดการขนส่งทางถนนมาสู่การขนส่งทางระบบรางให้มากขึ้น โดยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้งานมานาน ให้กลับมีสภาพที่แข็งแรง มีประสิทธิภาพ และพร้อมรองรับต่อการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มความคล่องตัวในการคมนาคม เพื่อลดเวลาการเดินทางและการขนส่งสินค้า เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวไทย โดยการพัฒนาระบบรางรถไฟให้เป็นทางคู่ การพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูง และการก่อสร้างทางสายใหม่ ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ให้ประชาชนได้เข้าถึงโครงข่ายระบบรถไฟได้มากขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เชื่อมการเดินทางทั่วประเทศ เปิดประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเชื่อมโยงประเทศทั้ง 4 ภูมิภาค เพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน เพิ่มปริมาณการค้าชายแดน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน (ASEAN HUB)

สำหรับยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้าน รัฐบาลมั่นใจว่าจะสามารถพลิกโฉมประเทศไทย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งกระจายความเจริญภายในประเทศไปสู่เมืองที่รถไฟวิ่งผ่านรวมทั้งเมืองโดยรอบ ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาส เพื่อความกินดีอยู่ดี และนำความสุขมาให้กับประชาชนในทุกภาคของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการ ก่อนเดินทางขึ้นขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษ กรุงเทพฯ-นครปฐม โดยออกเดินทางจากสถานีรถไฟกรุงเทพ ไปสถานีรถไฟนครปฐม เพื่อประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนารถไฟไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ