(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยฯ เผยดัชนีราคาทองส.ค.ฟื้นครั้งแรกรอบ 3 เดือน แต่แนวโน้มยังเป็นขาลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 8, 2013 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประเดือนส.ค.56 อยู่ที่ระดับ 53.35 จุด ฟื้นตัวเหนือระดับ 50 จุด ที่ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานของดัชนีครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ตั้งแต่พ.ค.ที่ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 45.50 จุด มิ.ย.อยู่ที่ 32.91 จุด และก.ค.อยู่ที่ 33.77 จุด

สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคาทองคำมีโอกาสฟื้นตัวหลังราคาปรับตัวลดลงติดต่อกัน อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำกลับสวนทางความต้องการที่จะซื้อทองคำในเดือนส.ค.นี้ ของกลุ่มตัวอย่างที่ยังไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงความไม่แน่ใจของการฟื้นตัว

สำหรับดัชนีแยกตามกลุ่มตัวอย่าง พบว่ามีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น โดยระดับความเชื่อมั่นอยู่เหนือ 50 จุดเล็กน้อย ทั้งกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มผู้ค้าทองคำ ซึ่งค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 52.78 จุด และ 57.36 จุดตามลำดับ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นในระยะ 3 เดือนข้างหน้า จะมีการฟื้นตัวเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 55.47 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10.86 จุด หรือ 24.19% สะท้อนทัศนคติเชิงบวกในระยะกลาง

ปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าจะมีผลต่อทิศทางราคาทองคำในเดือนส.ค.นี้ ได้แก่ การชะลอมาตรการ QE ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินบาท โดยให้น้ำหนักกับการชะลอ QE สูงสุดอยู่ที่ 49.72% นอกจากนี้เมื่อสอบถามความต้องการซื้อทองคำในช่วงถัดไป พบว่า 30.93% ของกลุ่มตัวอย่าง คาดว่าจะซื้อทองคำ ขณะที่ 34.81% คาดว่าจะไม่ซื้อ และ 34.26% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ แต่เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติเชิงบวกต่อราคามากขึ้น แต่ยังไม่แน่ใจต่อการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ ทำให้สัดส่วนต่อการซื้อมีการกระจายตัวและไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับดัชนี

นายภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า ผู้ค้าทองคำมีความคิดเห็นว่าราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนส.ค.โดยรวมน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,150-1,420 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคาต่ำสุดในเดือนส.ค.น่าจะอยู่ในช่วง 1,226-1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่กรอบสูงสุดอยู่ที่ 1,226-1,350 ดอลลาร์/ออนซ์ (จากกลุ่มตัวอย่างของผู้ค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 11 ตัวอย่าง)

ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคาจะเคลื่อนไหวระหว่าง 17,000-21,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดให้น้ำหนักระหว่าง 18,000-18,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวสูงสุดจะอยู่ที่ 20,000-20,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ โดยมีประเด็นเรื่องการชะลอมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นแรงกดดันสำคัญ ขณะที่ความผันผวนของค่าเงินบาทเชื่อว่าจะยังกระทบต่อราคาทองคำในประเทศเดือนนี้ นอกจากนี้นักลงทุนยังต้องติดตามการขายกองทุนขนาดใหญ่ การเก็งกำไรในตลาด และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

นายภูษิต กล่าวว่า แนวโน้มการเทขายทองคำของนักลงทุนในเดือนสิงหาคมยังเทขายอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านมา 2 สัปดาห์กองทุนทองคำต่างๆได้เทขายทองคำไปแล้วมากกว่า 10 ตัน โดยกองทุน SPDR มีการระบบายทองออกเป็นจำนวนมากตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมประมาณ 423 ตัน และมีการถือครองต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งมีจำนวนการถือครองอยู่ที่ 927.35 ตัน

สำหรับแนวโน้มของภาวะทองคำในช่วงไตรมาส 3/56 ยังอยู่ในช่วงขาลงจากปัจจัยกดดันในเรื่องของการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะส่งสัญญาณการชะลอมาตรการ QE ที่ชัดเจนขึ้น โดยในเดือนกันยายนปีนี้เป็นเดือนที่สำคัญที่สุด ซึ่งนักลงทุนต่างคาดว่าสัญญาณการชะลอมาตรการ QE จะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลทำให้ราคาทองคำคำปรับตัวลดลงและนักลงทุนจะเริ่มทยอยเทขายทองออกมามากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ทำให้ความต้องการทองคำลดลง ส่งผลทำให้ราคาทองลดลงตามไปด้วยเช่นกัน

ด้านปัจจัยค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลัง ยังเชื่อว่ามีความผันผวนต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนประเทศไทยยังมีความเสี่ยงเรื่องมาตรการรัฐที่ตลาดตอบรับในเชิงบวกไปก่อนหน้านี้แล้วอย่าง พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท ทำให้ราคาทองคำในประเทศไม่สอดคล้องกับทิศทางในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง

ส่วนข้อแนะนำการลงทุนในระยะนี้ควรเน้นการลงทุนในทองคำระยะสั้น เนื่องจากทิศทางราคายังคงผันผวนและลดสัดส่วนการลงทุนระยะยาว ควรหาจังหวะการขายในช่วงราคาที่เหมาะสม แล้วทยอยซื้อกลับมาในอนาคต และในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปีราคาทองมักจะมีความผันผวนต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และติดตามการชะลอมาตรการ QE ในช่วง 4 เดือนหลังตั้งแต่กันยายน-ธันวาคม เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในช่วงท้ายต่อเนื่องถึงปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ