ทั้งนี้ การตั้งบริษัทลูกเป็นผลศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพของรฟม.ที่ให้ตั้งบริษัทลูกรวม 5 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 2.บริษัทพัฒนาเชิงพาณิชย์ 3.บริษัทบริหารรถฟีดเดอร์ 4.บริษัทเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และ 5.บริษัทบริหารการตลาดและบริการสถานี โดยรฟม.จะตั้งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก่อน คาดว่าจะตั้งบริษัทได้ภายในปี 2557
"ปัจจุบันเอกชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า เช่น มีคอนโดมิเนียมสร้างตามแนวรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ขณะที่รัฐไม่ได้รับประโยชน์ดังกล่าว หากรฟม.สามารถที่จะสร้างรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ก็ถือว่าประเทศจะได้ประโยชน์ด้วย เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดภาระการลงทุนของรัฐบาลได้" นายยงสิทธิ์ กล่าวภายหลังการสัมมนาเรื่อง "รฟม.กับข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการเวนคืน : อุปสรรค ปัญหา และทางออก"
โดยได้ยกตัวอย่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบ วางแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงที่มีนบุรี เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ โดยคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐสามารถนำผลตอบแทนไปอุดหนุนการลงทุนดังกล่าวได้
นายยงสิทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า จะเสนอให้รัฐผลักดันแนวทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของรฟม.เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่รัฐจะให้ความสำคัญในพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในโครงการรถไฟความเร็วสูงมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐเห็นว่าโครงการรถไฟฟ้าของรฟม.เป็นความจำเป็นที่ต้องลงทุน แต่รถไฟความเร็วสูงเป็นทางเลือกในการเดินทาง ซึ่งต้องการความคุ้มค่าการลงทุน และการนำรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปช่วยก็จะเพิ่มความคุ้มค่าการลงทุนให้กับโครงการได้ดี