ดังนั้น เมื่อรวมกับจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ จะมีโครงการลงทุนได้รับส่งเสริมครบถ้วนตามที่ยื่นขอรับส่งเสริมทั้งสิ้น 327 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 186,534.5 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ โครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยได้รับการอนุมัติส่งเสริมภายใต้มาตรการฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย จำนวน 255 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 149,102.9 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จำนวน 235 โครงการหรือร้อยละ 92 มั่นใจลงทุนพื้นที่เดิม มีโครงการย้ายไปตั้งในพื้นที่ใหม่ 16 โครงการ หรือร้อยละ 6 ที่เหลือเป็นโครงการเดิมเพิ่มที่ตั้งแห่งใหม่นอกเหนือจากได้ฟื้นฟูการลงทุน สำหรับกิจการที่ย้ายไปตั้งในพื้นที่ใหม่ จำนวน 16 โครงการนั้น ส่วนใหญ่ไปตั้งกิจการอยู่ในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา นอกนั้นกระจายไปตั้งกิจการในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดลำพูน จังหวัดขอนแก่น จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ
ส่วนมาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี มีได้รับส่งเสริมรวม 72 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 37,431.6 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่ หรือจำนวน 36 โครงการ ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลค่าเงินลงทุนรวม 16,435.5 รองลงมาเป็นการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี จำนวน 19 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 6,024.2 ล้านบาท
"โครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมเพื่อฟื้นฟูการลงทุนพบว่ากว่าร้อยละ 90 ของ 255 โครงการ สามารถกลับมาดำเนินการผลิตเกือบเต็มกำลังการผลิตแล้ว ส่วนโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ในปทุมธานี และอยุธยา ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน" นายประเสริฐ กล่าว
ขณะที่นายคาซึโนริ มาซึอิ(Mr. Katsunori Matsui) รองประธานบริษัท โรม อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า เมื่อครั้งที่เกิดเหตุวิกฤตอุทกภัยที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับความช่วยเหลือ และความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งพนักงานคนไทย พนักงานบริษัทในเครือ และหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ ทำให้บริษัทของเราสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุนที่คอยช่วยเหลือให้การสนับสนุนนักลงทุนอย่างเต็มที่ในทุกๆ เรื่อง
"มาตรการฟื้นฟูหลังวิกฤตอุทกภัยนับเป็นอีกมาตรการที่แสดงถึงความเอาใจใส่ และห่วงใยจากภาครัฐในการช่วยบรรเทาความสูญเสียที่มีต่อนักลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทฯมีความเชื่อมั่น และตัดสินใจที่จะดำเนินกิจการในไทยต่อไป" นายคาซีโนริ กล่าว
สำหรับแผนการจัดการน้ำของรัฐบาล โดยภาพรวมนับว่าเป็นแผนงานที่ดี บริษัทฯคาดหวังว่ารัฐบาล และหน่วยงานทุกภาคส่วน จะร่วมมือกันนำไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังซึ่งจะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
ด้านนายสมพร ณ ลำพูน กรรมการผู้จัดการ เครือมิซูโนพลาสติก ผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติก กล่าวว่า เหตุอุทกภัยที่ผ่านมา บริษัทได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก แต่บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้รับการสนับสนุนในหลายๆ มาตรการ ทั้งมาตรการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาระยะสั้น เช่น การเคลื่อนย้ายเครื่องจักร การนำเข้าเครื่องจักรทดแทน และการนำเข้าวัตถุดิบ ทำให้บริษัทฯ สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้งภายในเวลาอันรวดเร็ว และมาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะช่วยฟื้นฟูการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้กลับมามั่นคงได้อีกครั้งในระยะยาว