ก.พลังงาน ยัน LPG ไม่ขาดแคลน หลังโรงแยกก๊าซหยุด, PTT เพิ่มนำเข้า-ลดขายให้กลุ่มปิโตรฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 16, 2013 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมระหว่างกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาแนวทางรองรับผลกระทบจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ของ บมจ.ปตท.(PTT) ที่ต้องหยุดเดินเครื่อง 3-5 เดือนจากเหตุเพราะฟ้าผ่านั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกรณีก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) จะหายไปประมาณ 7-7.5 หมื่นตัน/เดือน คิดเป็น 25% ของกำลังการผลิตของประเทศ ที่มีกำลังผลิตรวม 3 แสนตัน/เดือน โดยกำลังการผลิตส่วนใหญ่ หรือ 2.2 แสนตัน มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และอีก 8 หมื่นตันมาจากโรงกลั่นน้ำมัน

ดังนั้นที่ประชุมจึงขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันให้ช่วยลดการจำหน่ายก๊าซ LPG ให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และให้โรงงานปิโตรเคมีพิจารณาเรื่องการใช้แนฟทาเพื่อทดแทน LPG รวมทั้งให้กลุ่มโรงกลั่น พิจารณาปรับเปลี่ยนน้ำมันดิบให้ใช้ประเภทที่สามารถผลิต LPG ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งภาคเอกชนจะกลับไปพิจารณารายละเอียดตามแนวทางดังกล่าวก่อนส่งข้อมูลกลับมาที่กระทรวงพลังงานในวันที่ 19 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ดียืนยันว่าก๊าซ LPG จะไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ปตท.จะมีการนำเข้า LPG เพิ่มขั้นต่ำ 4 หมื่นตัน/เดือน และลดการจัดส่งให้กลุ่มปิโตรเคมี ประมาณ 3 หมื่นตัน/เดือน แต่จะมีผลกระทบทำให้มีการจ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่ออุดหนุนส่วนต่างราคานำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันราคา LPG บวกค่าขนส่ง อยู่ที่ประมาณ 900 ดอลลาร์/ตัน ในขณะที่ราคาในประเทศอยู่ที่ 333 ดอลลาร์/ตัน ดังนั้นกองทุนฯ จะจ่ายส่วนต่างประมาณ 567 ดอลลาร์/ตัน

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ปตท.(PTT) และในฐานะประธานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า โรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง พร้อมให้ความร่วมมือแก้วิกฤติของประเทศ โดยจะพิจารณาปรับเปลี่ยนน้ำมันดิบเพื่อให้ผลิต LPG เพิ่มขึ้น แต่ต้องใช้เวลา 2 เดือนในการดำเนินการ ส่วนจะผลิต LPG ได้มากน้อยเพียงใด จะต้องพิจารณาตัวเลขอีกครั้ง

สำหรับผลกระทบต่อรายได้ของ ปตท.มี 2 ส่วน คือ ด้านทรัพย์สินและโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งต้องประเมินว่าจะกระทบรายได้จากการหยุดเดินเครื่อง 3-5 เดือนมากน้อยขนาดไหน โดยทั้ง ปตท.และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) มีประกันอุบัติเหตุและประกันการสูญเสียรายได้ ซึ่งน่าจะครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ยอมรับว่า เป็นโชคร้ายของ ปตท.เพราะการที่โรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 นั้นมีระบบป้องกันฟ้าผ่าเป็นอย่างดี แต่วันที่เกิดเหตุฟ้าผ่าลงมาถึงสองครั้ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมาก จึงหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ขณะนี้ ปตท.กำลังเร่งพิจารณาว่าจะซ่อมแซมให้โรงแยกก๊าซฯ กลับมาเดินเครื่องผลิตเร็วที่สุด ส่วนก๊าซฯ ที่ส่งโรงไฟฟ้าจะไม่ขาดแคลนแน่นอน เพราะสามารถส่งตรงทางท่อจากแหล่งผลิตได้ ส่วนผลกระทบปิโตรเคมี ขณะนี้กำลังพิจารณาในภาพรวมว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ