ขณะที่ทางเลือกในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด จากสถานะหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวได้
ทั้งนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ร้อยละ 2.50 ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และน่าจะเพียงพอต่อการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ปัจจุบัน จากต้นทุนการเงินที่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราว อาทิ ภาคการส่งออกที่เผชิญแรงถ่วงจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในระยะข้างหน้าตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าน่าจะขยายตัวดีขึ้น ในขณะที่การลงทุนภาครัฐก็อาจประสบกับความล่าช้าจากปัญหาทางเทคนิค อันอาจเริ่มทยอยดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ได้ในปีหน้า นอกเหนือจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คงเติบโตชะลอลงเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น
หากพิจารณาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบัน จะพบว่ายังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย (3.00%) และเกาหลีใต้ (2.50%) เป็นต้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็อยู่ในระดับติดลบ อันสะท้อนทิศทางและท่าทีของนโยบายการเงินของไทยว่ายังคงเป็นแบบผ่อนคลาย
ขณะที่เมื่อพิจารณาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว พบว่า การปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ที่ 77.5% ของ GDP เทียบกับร้อยละ 63.0% ของ GDP ในปี 53 ทำให้การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ท่ามกลางสัดส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้(Debt-Service Ratio) ที่ปัจจุบันสูงถึง 33.8% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวของความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการไทยคงต้องจับตาดูท่าทีนโยบายการเงินและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจแกนหลักอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลโดยตรงต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ค่าเงินบาท สภาพคล่องและภาพรวมเศรษฐกิจไทย
"หากเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ชะลอลงมากเกินไป ทางการก็คงมีเครื่องมือในการบริหารจัดการเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถประคองการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงเป็นเครื่องมือลำดับท้ายๆที่ทางการจะพิจารณาใช้ ท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอันดับต่ำที่ใกล้จะสิ้นสุดลง ซึ่งจะจำกัดทางเลือกเชิงนโยบายของทางการไทยในระยะข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ