ทั้งนี้ นิยามหนี้ครัวเรือนของธปท. คือสินเชื่อที่ปล่อยให้บุคคลธรรมดา และกิจการขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งเป็นนิยามเดิมที่ธปท.ใช้ และเป็นไปตามหลักสากลเหมือนกับในต่างประเทศ แต่ประเด็นที่ธปท. เป็นห่วงคือการเร่งตัวของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จาก 50% ของจีดีพี เป็น 80% ของจีดีพี หรือประมาณ 8 ล้านล้านบาท จากมูลค่าจีดีพี 10 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน โดยประมาณ 2% เป็นสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ซึ่งเมื่อมีการหักลบออกไปแล้วกลับมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงอยู่ถึง 78% ที่มาจากสินเชื่อบ้าน // รถยนต์ // และอุปโภคบริโภค ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ พบว่าหนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงกว่ารายได้มาก และเกรงว่าจะกระทบกับความสารถในการชำระหนี้ให้ลดลง
"เป็นสัญญาณเตือนให้เฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่เป็นปัญหาที่รุนแรง จนถึงขั้นที่ธปท. ต้องออกมาตรการพิเศษมาดูแลหนี้ครัวเรือน เพราะการออกมาตรการจะต้องมีความระมัดระวัง เพราะอาจกระทบให้เศรษฐกิจภาพรวมยิ่งชะลอตัวลงแรง หากมีการใช้มาตรการแรงเกินไป เพราะในขณะนี้การอุปโภคบริโภคชะลอตัวลงมาก ซึ่งเป็นการปรับตัวของประชาชนที่ระมัดระวังการใช้จ่ายหลังจากที่มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น" ผู้ว่า ธปท.กล่าวในงานการเตรียมความพร้อมของผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจรับมือกับ AECที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ แบงก์ชาติ ได้ให้ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. รณรงค์ผ่านสื่อให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่าย อย่าก่อหนี้สูงเกินตัว และรู้จักเก็บออม ผ่านโครงการ รู้จักแบ่ง ก็ไม่ต้องแบกหนี้ เพื่อป้องกันปัญหาก่อนเกิดวิกฤต เพราะหากปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้นจนถึงระดับ 85% ของจีดีพี ประเทศไทยอาจประสบปัญหาเหมือนสหรัฐ ที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อเกิดวิกฤต เพราะไม่สามารถขายสินทรัพย์ เช่น บ้านและรถยนต์เพื่อเสริมสภาพคล่องได้
นายประสาร ยอมรับว่า การดูแลเศรษฐกิจ จำเป็นต้องสร้างความสมดุลใน 3 ด้าน คือ หนี้ภาคธุรกิจ // หนี้สาธารณะ // และหนี้ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ หนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ในระบบทั้งหมด 8 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินราว 3.8 ล้านล้านบาท // หนี้กับธนาคารเฉพาะกิจอยู่ 2 ล้านล้านบาท // หนี้ในระบบสหกรณ์ 1 ล้านล้านบาท // หนี้ในระบบ non-bank และอื่นๆ อีก 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้ที่ธปท.ดูแลมีเพียงหนี้ในระบบสถาบันการเงินเท่านั้น ยังมีหนี้ส่วนอื่นยังอยู่นอกเหนืออำนาจของธปท.กระจายอยู่หลายกลุ่ม ดังนั้น จึงต้องอยู่ในความไม่ประมาท และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลในส่วนนี้ ส่วนหนี้สาธารณะที่มีอยู่ในระดับ 44% ของจีดีพี ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ เช่นเดียวกับหนี้ภาคเอกชนที่ระดับหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับ 2 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำกว่าช่วงปี 2540 ที่สูงถึง 8-9 เท่า ดังนั้น หนี้ครัวเรือนจึงกลายเป็นปัญหาหลักที่ต้องดูแล