อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาส 1/56 ถือว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2/56 หดตัว แต่ช้าลง โดยเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกหดตัว 0.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไตรมาส 1/56 ขยายตัว 5.4% ส่วนในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.1%
สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/56 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยการขยายตัวด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามฐานที่สูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกหดตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท การขยายตัวในด้านการผลิต มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ จากสาขาการโรงแรมและภัตตาคาร อสังหาริมทรัพย์ การค้าปลีกค้าส่ง และการเงิน ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรมหดตัวตามภาคการส่งออก
การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัว 2.4% ชะลอตัวลงจาก 4.4% ในไตรมาสก่อน ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นและการลดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก โดยค่าใช้จ่ายในสินค้าคงทนชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของการจำหน่ายรถยนต์นั่งจากการขยายตัว 121.8% ในไตรมาสก่อน เป็น 5.2% ในไตรมาสนี้ ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายจักรยานยนต์หดตัว 8.1% เช่นเดียวกับ การบริโภคสินค้าในหมวดอื่นๆ ซึ่งขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงตามรายได้เกษตรกรที่ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และการลดลงของรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาท ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 72.8 ลดลงจากระดับ 73.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เฉลี่ยครึ่งแรกของปี การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 3.4%
การลงทุนรวม ขยายตัว 4.5% เทียบกับการขยายตัว 5.8% ในไตรมาสก่อน เนื่องจากฐานที่สูงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.9% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 2.9% ในไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้างที่ขยายตัว 0.6% และ 7.1% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนใหม่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI ที่เพิ่มขึ้น 72% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 358 พันล้านบาท ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัว 14.8% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 18.8% ในไตรมาสก่อนหน้า เฉลี่ยครึ่งแรกของปีการลงทุนรวมขยายตัว 5.1%
การส่งออกสินค้า มูลค่าการส่งออกสินค้าเท่ากับ 55,563 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,662,137 ล้านบาท) หดตัว 1.9% เทียบกับการขยายตัว 4.5% ในไตรมาสแรกของปี 56 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท การส่งออกหดตัวทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร สินค้าส่งออกที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์โลหะ และเคมีภัณฑ์ ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตร ที่สำคัญหดตัว เช่น ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง
การส่งออกไปตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น หดตัว 3.5%, 5.2% และ 6.2% ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน ฮ่องกง และออสเตรเลียขยายตัว 2.5%, 7.8% และ 16.3% ตามลำดับ
เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกลดลง 6.3% เฉลี่ยครึ่งแรกของปี มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 1.2% ในขณะที่มูลค่า การส่งออกในรูปเงินบาทลดลง 3%
ภาคเกษตรกรรมขยายตัว 0.1% ชะลอตัวจาก 0.8% ในไตรมาสก่อน ตามการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง ในขณะที่ผลผลิตประมงหดตัวเนื่องจากการระบาดของโรคตายด่วนในกุ้ง (Early Mortality Syndrome : EMS) ที่มีผลกระทบต่อการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส โดยเฉพาะราคามันสำปะหลัง กลุ่มไม้ผล ปศุสัตว์ และประมง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.8% เฉลี่ยครึ่งแรกของปี ภาคเกษตรกรรมขยายตัว 0.4%
ภาคอุตสาหกรรมหดตัว 1% เทียบกับการขยายตัว 4.9% ในไตรมาสก่อน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออก (มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 60%) หดตัว 13.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเงินบาทแข็งค่า อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่าง 30-60% ขยายตัว 8.6% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่เฉลี่ย 63.4% เฉลี่ยครึ่งแรกของปีภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2%
ภาคการก่อสร้างขยายตัว 5% ชะลอตัวจาก 10.5% ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการชะลอตัว ของการก่อสร้างภาครัฐ แต่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง 7.1% สอดคล้องกับปริมาณ การจาหน่ายปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์เหล็กที่เพิ่มขึ้น 10.6% และ 22% ตามลำดับ ในขณะที่การก่อสร้างภาครัฐขยายตัว 2.4% เฉลี่ยครึ่งแรกของปี ภาคการก่อสร้างขยายตัว 7.6%
สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวสูง 14.2% ต่อเนื่องจาก 14.8% ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 5.9 ล้านคน ขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 21.3% จาก 18.9% ในไตรมาสแรก และรายรับจากการท่องเที่ยว 2.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.8% ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 60% เฉลี่ยครึ่งแรกของปี สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัว 14.5%