"เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าตาม trend ภูมิภาค เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าจากตัวเลขที่สหรัฐประกาศออกมาเมื่อคืนวันศุกร์ค่อนข้างดี" นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน คาดการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ยังอยู่ในกรอบ 31.20-31.35 บาท/ดอลลาร์เช่นเดิม
โดยปัจจัยที่ตลาดรอดูเป็นการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ในวันนี้ และการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 21 ส.ค.นี้
ล่าสุด SPOT อยู่ที่ระดับ 31.3354 บาท/ดอลลาร์ ส่วน THAI BAHT FIX 3M อยู่ที่ 2.32634% และ THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ 2.33844%
- ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 97.43/44 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 97.35/37 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3338/3338 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.3342/3343 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ 31.2860 บาท/ดอลลาร์
- ตลาดหุ้นไทยต้นภาคเช้าร่วงกว่า 10 จุด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับสภาพัฒน์แถลงปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 56 ลงเหลือ 3.8-4.2% จากเดิม 4.2-5.2% เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า แรงส่งจากมาตรการภาครัฐลดลง และแผนการลงทุนภาครัฐล่าช้า โดยเมื่อเวลา 10.04 น.ดัชนี SET มาอยู่ที่ 1,435.71 จุด ลดลง 10.05 จุด(-0.70%)
- นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ เผยได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 56 ลงเหลือเติบโต 3.8-4.3% จากเดิมคาดไว้ในช่วง 4.2-5.2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด ฐานสูง การลดลงของแรงส่งจากมาตรการภาครัฐ แผนลงทุนภาครัฐล่าช้ากว่าคาด รวมถึงความขัดแย้งและเสถียรภาพการเมืองในประเทศ เนื่องจากการบริโภคในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ อาทิ โครงการรถคันแรก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มชะลอตัวลง หลังจากเริ่มลดกำลังซื้อในส่วนเครื่องจักร อุปกรณ์ลง และเรื่องการส่งออก เพราะมูลค่าการส่งออกโดยรวมคิดเป็น 60% ของ GDP แต่ในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกเติบโตได้เพียง 1% เท่านั้น ส่วน GDP ในช่วงไตรมาส 2/56 ขยายตัว 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายครัวเรือนชะลอตัว การลงทุนชะลอตัว การส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและบาทแข็ง รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมหดตัว ขณะที่มีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ในการประชุมครั้งนี้ รับผลบวกเศรษฐกิจประเทศพัฒนาเริ่มฟื้น แต่ยังกังวลหนี้ครัวเรือนพุ่ง
- กระทรวงการคลังชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 4 ด้านยังประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ยาก เหตุยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ระบุรัฐบาลพยายามผลักดันการลงทุนภาคเอกชนและส่งออกไปกลุ่ม CLMV ที่มีอัตราการเติบโตที่สูงมากกว่าสหภาพยุโรป
- ส.อ.ท.เตรียมเสนอ 3 มาตรการเพิ่มเติมกระตุ้นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเหตุ 20 มาตรการรัฐที่คลอดออกมาไม่มีอะไรใหม่แถมเป็นแนวทางระยะกลางและยาว หวั่นเอาไม่อยู่! แนะให้เร่งการค้าชายแดนเพื่อนบ้านง่ายๆ ดีกว่าไปมุ่งตลาดใหม่ที่ยาก ลดเงินสมทบประกันสังคมเหลือฝ่ายละ 2% ลดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดูแลส่งออกและแรงซื้อคนไทยที่เริ่มแผ่วหนัก
- สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงทะยานขึ้น 140 ดอลลาร์ฮ่องกง เปิดที่ระดับ 12,800 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึง หรือราคาเทียบเท่ากับ 1,386.39 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ปรับตัวขึ้น 15.16 ดอลลาร์สหรัฐ
- China Foreign Exchange Trading System(CFETS) รายงานว่า เงินหยวนอ่อนค่าลง 0.24% แตะที่ 6.1690 หยวนต่อดอลลาร์
- ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 เนื่องจากหุ้นกลุ่มวัตถุดิบร่วงลงหลังราคาทองแดงปรับตัวลดลง
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่ามียอดขาดดุลการค้าในเดือน ก.ค.ทั้งสิ้น 1.024 ล้านล้านเยน โดยยอดการส่งออกขยายตัว 12.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าขยายตัว 19.6%
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) เดือน ก.ย.ปรับตัวลง 8 เซนต์ แตะที่ 107.38 ดอลลาร์/บาร์เรล ในการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกที่ตลาดเอเชียเมื่อเวลา 11.34 น.ตามเวลาซิดนีย์ในวันนี้ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน หลังจากที่สัญญาทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยพุ่งขึ้น 8.8% ในเดือน ก.ค.ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว หลังจากการชุมนุมประท้วงที่อียิปต์บานปลายทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
- ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปิดภาคเช้าทรงตัวในวันนี้ ขณะที่คำสั่งซื้อจากการที่ตลาดหุ้นโตเกียวติดลบในช่วงสั้นๆ ได้ช่วยชดเชยแรงขายที่เป็นผลจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐอาจยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ก่อนกำหนด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 329 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.755% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากจากระดับปิดเมื่อวันศุกร์ ขณะที่ราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปีส่งมอบเดือน ก.ย.ลดลง 0.01 จุด สู่ระดับ 143.83 จุดที่ตลาดโตเกียว