(เพิ่มเติม1) สภาพัฒน์ คาดปี 56 GDP โต 3.8-4.3% ครึ่งปีหลังลุ้นส่งออกฟื้นเป็นแรงส่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 19, 2013 12:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 56 ลงเหลือเติบโต 3.8-4.3% จากเดิมคาดไว้ในช่วง 4.2-5.2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด ฐานสูง การลดลงของแรงส่งจากมาตรการภาครัฐ แผนลงทุนภาครัฐล่าช้ากว่าคาด รวมถึงความขัดแย้งและเสถียรภาพการเมืองในประเทศ

ส่วนแรงส่งของเศรษฐกิจในปีนี้มาจากการปรับตัวดีขึ้นของพลวัตรทางเศรษฐกิจ การดำเนินตามกรอบเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยปี 56 ปัจจัยพื้นฐานด้านการลงทุนและความเชื่อมั่นยังอยู่ในเกณฑ์ดี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวถึงสาเหตุในการปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 ว่า เนื่องจากการบริโภคในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่สิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ อาทิ โครงการรถคันแรก, การลงทุนภาคเอกชนเริ่มชะลอตัวลง หลังจากลดกำลังซื้อในส่วนเครื่องจักร อุปกรณ์ลงในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนปัจจัยการส่งออกนั้น พบว่าครึ่งปีแรกการส่งออกเติบโตได้เพียง 1% เท่านั้น ซึ่งมูลค่าการส่งออกโดยรวมจะคิดเป็นสัดส่วน 60% ของ GDP

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าทั้งปีนี้ GDP ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้ถึง 4.3% แต่ต้องมีป้จจัยสำคัญ 2 เรื่องมาผลักดัน คือ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และการสนับสนุนภาคการส่งออกให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

"เราคาดว่าทั้งปี GDP จะโตได้ 3.8-4.3% ค่ากลางอยู่ที่ 4% แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะโตถึง 4.3% ซึ่งต้องขึ้นกับ 2 เรื่องสำคัญ คือ การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ และสนับสนุนการส่งออกให้ขยายตัวตามที่คาดหวัง"เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุ

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังสภาพัฒน์มองว่าการที่ GDP จะมีโอกาสเติบโตขึ้นหรือจะลดลงขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องการส่งออกเป็นสำคัญว่าจะสามารถฟื้นจากปัญหาเศรษฐกิจโลกได้หรือไม่ ซึ่งการจะทำให้การส่งออกทั้งปีโตได้ 5% ตามที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้นั้น ในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องเร่งให้การส่งออกเติบโตในระดับ 7.8% หรือโดยเฉลี่ยแล้วต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนที่เหลือ

ส่วนปัจจัยเรื่องนโยบายดอกเบี้ยนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) แต่ขณะนี้การที่ กนง.ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ถือว่าเป็นนโยบายผ่อนคลายทางการเงินแล้ว ส่วนภาวะราคาน้ำมันเชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้พบแหล่งน้ำมันใหม่ ประกอบกับโลกยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร จึงมองว่าอัตราเงินเฟ้อคงจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นไปจากที่คาดการณ์ไว้

ด้านบรรยากาศความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศนั้น ยอมรับว่าหากยังมีการประท้วงกันไม่จบสิ้น อาจจะก่อให้เกิดความบั่นทอนต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว ทางที่ดีหากจะมีการชุมนุมหรือประท้วงอะไรก็ตาม ไม่ควรจะไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพราะจะเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบด้วย 1.ความเสี่ยงจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลหลักและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แม้ว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในชวงครึ่งหลังของปี แต่เงินยูโรยังอยู่ภายใต้แรงกดดันของการอ่อนค่าเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่การดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่จีนยังอยู่ในช่วงการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจและการลดแรงกดดันจากปัญหาในภาคการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการชะลอตัว เงื่อนไขดังกล่าวทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปียังเป็นไปอย่างช้าๆ และเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวอขงการส่งออก

2.ข้อจำกัดจากฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น และการลดลงของแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในช่วงครึ่งหลังของปี 55 การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และการก่อสร้างเพื่อทดแทนความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในปี 56

และการบริโภคสินค้าคงทนซึ่งได้รับแรงส่งจากมาตรการรถยนต์คันแรก และส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในไตรมาส 3/55 อยู่ที่ 3.73 แสนคัน และไตรมาส 4/55 อยู่ที่ 3.99 แสนคันสูงขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แรงส่งจากมาตรการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกเริ่มลดลง ซึ่งจะเห็นได้จากการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในไตรมาส 1/56 อยู่ที่ 3.98 แสนคัน และลงมาเหลือ 3.27 แสนคันในไตรมาส 2/56 ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลัง

3.การดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ ทั้งการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทที่จะต้องผ่านขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....

และแม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือน ต.ค.56 ก็ตาม แต่จากการประเมินล่าสุดพบว่ามีโครงการที่มีความพร้อมสำหรับการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณนี้ 6,600 ล้านบาท และยังมีความเสี่ยงที่การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวจะมีความล่าช้าออกไปด้วย

4.ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ข้อจำกัดในการขยายตัวของการส่งออกและการบริโภคภาคครัวเรือน ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องพึ่งพาการขยายตัวของการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของการลงทุนและการท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจดังกล่าว

เลขาธิการสภาพัฒน์ มองว่า ในช่วงครึ่งปีหลังแม้แรงกดดันจากเงินบาทแข็งค่าจะเริ่มลดลงจากครึ่งปีแรก แต่อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าของไทยยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับแข็งค่า และสร้างแรงกดดันต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ดังนั้น การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจึงควรให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการเพื่อรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งประกอบด้วย 1.การเรงรัดดำเนินมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ตามมติครม.เมื่อวันที่ 6 ส.ค.56 2.การเร่งรัดให้เม็ดเงินที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้สามารถดำเนินโครงการลงทุนได้โดยเร็ว 3.การเตรียมความพร้อมของโครงการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำ และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 4.การดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ