อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในปี 2557 อาจขยายตัวที่ประมาณ 2.4% ซึ่งสะท้อนทิศทางประคองตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับปีนี้ ท่ามกลางความกังวลต่อค่าครองชีพ, หนี้ครัวเรือนที่กดดันกำลังซื้อของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนบรรยากาศการลงทุนในปีหน้านั้นอาจมีภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาครัฐสามารถผลักดันการลงทุนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2556 มีโอกาสขยายตัวดีขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5% โดยได้รับอานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน ตลอดจนสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจต่างประเทศที่ทยอยมีภาพที่ดีขึ้น ซึ่งย่อมจะเป็นผลดีต่อทิศทางการเริ่มฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย (แม้จะยังคงต้องจับตาหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยต่อไป) นอกจากนี้ บรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศอาจได้รับแรงหนุนจากการเร่งรัดเบิกจ่ายเม็ดเงินในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 2556 และทิศทางเงินเฟ้อที่ยังอาจผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงมากในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ที่ขยายตัวสูงถึง 19.1%) จึงทำให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวอาจเป็นระดับที่ไม่สูงนัก แม้ว่าการส่งออกอาจสามารถบันทึกอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น รวมทั้งน่าจะได้รับผลบวกจากการเร่งใช้จ่ายงบประมาณและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ตาม เหตุนี้จึงคาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีอาจขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 4% ซึ่งใกล้เคียงช่วงครึ่งแรกของปีที่ขยายตัว 4.1% โดยตัวแปรสำคัญ ยังคงเป็นจังหวะการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังคงต้องรับมือกับการแข่งขันในตลาดโลก และความอ่อนไหวของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า
ทั้งนี้ จากโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 ตามภาพประเมินดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ประมาณ 4.0%(กรณีพื้นฐาน) โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ 3.8-4.3% ตามเดิม โดยการเร่งรัดเบิกจ่ายเม็ดเงินจากงบประมาณของรัฐบาล อาจช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจไทยได้บางส่วน ในขณะที่หากสามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดได้เต็มที่ ก็อาจจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในกรณีพื้นฐานได้