ครม.เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวปี 56/57 นำร่อง 1.5 ล้านไร่ งบ 490 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2013 12:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปีฤดูการผลิต 56/57 ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ปลูกข้าว 1.5 ล้านไร่ ใช้วงเงินงบประมาณ 490 ล้านบาท โดยคิดการใช้วิธีแบ่งพื้นที่และคิดเบี้ยประกันตามความเสี่ยงของพื้นที่

ทั้งนี้จะมีการจัดโซนนิ่งแบ่งพื้นที่การทำประกันภัยข้าวไว้ 5 ระดับ ด้วยการให้ชาวนาจ่ายค่าเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงของพื้นที่เพาะปลูก ประกอบด้วย 1.พื้นที่สีเขียวอ่อน คิดเบี้ยประกันต่ำสุด 120 บาท/ไร่ โดยชาวนาจ่ายเบี้ยประกัน 60 บาท/ไร่ 2.พื้นที่สีเขียว คิดเบี้ยประกัน 230 บาท/ไร่ ชาวนาต้องจ่ายเบี้ยประกัน 70 บาท/ไร่ 3.พื้นที่สีเขียวเข้ม คิดเบี้ยประกัน 350 บาท/ไร่ ชาวนาจ่ายเบี้ยประกัน 80 บาท/ไร่ 4.พื้นที่สีเหลือง คิดเบี้ยประกัน 440 บาท/ไร่ ชาวนาต้องจ่ายเบี้ยประกัน 90 บาท/ไร่ และ 5.ส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยสูงสุด คือ สีแดง คิดเบี้ยประกันสูงสุด 470 บาท/ไร่ แต่ให้ชาวนาจ่ายเบี้ยประกันเพียง 100 บาท/ไร่เท่านั้น

รมช.คลัง กล่าวด้วยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ไปพิจารณาพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อจะขยายโครงการประกันภัยดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่นาข้าวทั่วประเทศทั้งหมด 60 ล้านไร่ ว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร รวมทั้งในอนาคตอาจจะพิจารณาโครงการดังกล่าวให้แก่บริษัทประกันเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดแทนรัฐบาล ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการนัดหารือกับบริษัทประกันภัยที่ประสงค์จะรับทำโครงการประกันภัยข้าวว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ตลอดจนรายละเอียดในการจัดแบ่งโซนพื้นที่เสี่ยง และการคิดเบี้ยประกัน เป็นต้น

นายทนุศักดิ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการแก้ปัญหาสถานะการเงินของธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.) หรือ SMEs Bank ว่า ปัญหาของ ธพว.ขณะนี้ถือว่าค่อนข้างนิ่งแล้ว เนื่องจากสามารถจัดการกับปัญหาหนี้เสียราว 3 หมื่นล้านบาทได้แล้ว โดยระยะต่อไปจะให้ ธพว.ทำงานร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อหารายได้เพิ่ม

ทั้งนี้ยอมรับว่าการที่ ธพว.มีปัญหาสถานะการเงินเนื่องจากเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ต้องแบกรับอัตราเสี่ยงมากกว่าสถาบันการเงินอื่นทั่วไป รวมทั้งต้องดำเนินการเพื่อสนองต่อนโยบายรัฐบาลด้วย แต่เชื่อว่าจากนี้ต่อไปสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นหลังจากที่มีการปล่อยสินเชื่อ และหารายได้เพิ่ม ขณะเดียวกันจะยังรักษากลุ่มลูกหนี้ที่ดีไว้ เช่น กลุ่มโรงสี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ