ครม.ให้กสท.-ทีโอทีนำคลื่นความถี่หลังหมดสัมปทานใช้ต่อ แต่เจรจากสทช.ก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2013 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาเห็นชอบแผนบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ได้จากสัญญาสัมปทาน และแนวทางการขอปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม(กสท.) และบมจ.ทีโอที เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยการนำทรัพย์สินโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2จี ที่รัฐได้จากคู่สัญญาสัมปทานมาให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ กสท. และลูกค้าเฉพาะกลุ่มของทีโอทีที่ได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดโครงข่ายโทรศัพท์ 2จี เป็นโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงไร้สายด้วยเทคโนโลยี LTE ให้กระจายทั่วภูมิภาค สร้างความเท่าเทียมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีของไอซีที

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้แทนในการเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เพื่อขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่งานตามแผนและมาตรการของ กสท.และทีโอทีที่เสนอให้ ครม.พิจารณาไว้ดังกล่าว

กสท.ได้วางแผนและมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้บริการภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท ทรูมูฟ กับบริษัท ดีพีซี จะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย. 56 ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด กสท จึงต้องดำเนินการบริหารจัดการโครงข่ายด้วยตนเองเพื่อให้บริการผู้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ซึ่ง กสท คาดว่า หลังวันที่ 15 ก.ย.56 กสท จะต้องให้บริการโทรศัพท์ 2G แก่ผู้ใช้บริการด้วยตนเองจำนวน 13 ล้านเลขหมาย และคาดว่าในปี 61 ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จะเหลือลูกค้า 2G ประมาณ 5 ล้านเลขหมาย ประกอบด้วยผู้ใช้บริการ ภายใต้สัญญาสัมปทานบริษัท ทรูมูฟ 2 ล้านเลขหมาย ลูกค้า DTAC หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน (15 ก.ย.61) จำนวน 3 ล้านเลขหมาย

เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน กสท จะเข้าควบคุมและบริหารจัดการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทผู้รับสัมปทาน โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการแยกตามองค์ประกอบของโครงข่าย และยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาโครงข่ายดังกล่าว เป็นโครงข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย ด้วยเทคโนโลยี 4G หรือ LTE ซึ่งมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำกว่าการลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบมีสาย และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงและใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม

เบื้องต้น กสท ได้ประเมินมูลค่าลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงข่ายด้วยเทคโนโลยี LTE จากที่มีอยู่เดิม 13,000 สถานี (เป็น 14,000 สถานี) เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 27,770 ล้านบาท ในช่วง 2557 — 2563 ทำให้โครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงครอบคลุมประชากรกว่า 95% เป็นการสนับสนุนให้นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2554-2563 บรรลุตามเป้าหมาย

ส่วนแนวทางการดำเนินงานของทีโอที ที่มีแนวทางการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ 470 MHz หรือ บริการ NMT 470 ที่จะบริการกล่มลูกค้าเดิมที่ปัจจุบัน (ก.พ.56) มีลูกค้าอยู่ในระบบ24,083 เลขหมาย โดยกระจายตัวอยู่ 75 จังหวัด ใน 5,100 ตำบลทั่วประเทศ (ไม่รวมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร) ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร แนวชายแดนหรือชายฝั่งทะเล

ขณะที่คลื่นความถี่ 2300 MHz ปัจจุบัน ทีโอที ใช้งานด้วยเทคโนโลยี TDMA แต่อนาคตของเทคโนโลยีในคลื่นความถี่ 2300 MHz คือเทคโนโลยี WiMAX (IEEE 802.16e) หรือ TDD LTE ซึ่งในปัจจุบันจะเรียกกันว่า 4G ทีโอทีจึงมีแนวทางจะนำคลื่นความถี่ 2300 MHz มาใช้พัฒนาโครงข่ายให้บริการสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี LTE เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลให้สามารถกระจายโครงสร้างพื้นฐาน ICT ให้กระจายทั่วประเทศ

จะทำให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G เดิมภายใต้สัญญาสัมปทานจำนวน 13 ล้านเลขหมาย สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผู้ให้บริการจาก บมจ.ทรูมูฟ และ บมจ.ดีแทค และ บมจ. ดีพีซี เป็น กสท ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ NMT 470 ของ ทีโอที จำนวน 24,083 เลขหมาย ทั้งประเทศสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง กสท. และทีโอทีสามารถนำทรัพย์สินที่มีอยู่ใข้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และสามารถตอบสนองนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังเกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจากผู้ให้บริการ 2-3 ราย เป็นผู้ให้บริการหลายรายจากการที่ กสท และ ทีโอที ยกระดับการให้บริการโครงข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงไร้สายในรูป Network Provider และขายส่งบริการให้แก่ MVNO เพื่อนำไปให้บริการผู้ใช้บริการต่อไปจะส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการรายย่อยมากขึ้น เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้มีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น เพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเลือกผู้ให้บริการ และเกิดประโยชน์แก่ประเทศในด้านลดการลงทุนซ้ำซ้อน การสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมจากการที่ กสท และ ทีโอที เป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงข่าย Network Provider


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ