นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ กนง.แถลงว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังมีความจำเป็นและเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงปรับตัว ภายใต้ภาวะที่แรงกดดันด้านราคายังไม่น่ากังวล ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินและความไม่แน่นอนของภาวะการเงินโลกยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า
ทั้งนี้ ที่ประชุม กนง.ได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคที่อยู่อาศัย รวมทั้งฐานะการเงินของภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป เศรษฐกิจจีนชะลอลงในไตรมาสที่ 2 แต่ข้อมูลล่าสุดชี้ว่ามีสัญญาณปรับดีขึ้น เศรษฐกิจกลุ่มยูโรมีเสถียรภาพมากขึ้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่อาจต้องใช้เวลา เนื่องจากฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอ่อนแอ สำหรับเศรษฐกิจเอเชีย อุปสงค์ภายในประเทศชะลอลงแม้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกในบางประเทศ แต่การส่งออกโดยรวมยังคงอ่อนแอ
เศรษฐกิจไทยชะลอลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์และกลุ่มสินค้าคงทน จากผลของมาตรการรถคันแรกที่ทยอยหมดลงและการสะสมหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น รวมทั้งการส่งออกที่ชะลอลงสอดคล้องกับเศรษฐกิจในภูมิภาค มองไปข้างหน้าอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกคาดว่าจะทยอยฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้าออกไป ในขณะที่ข้อจำกัดด้านอุปทานอาจมีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวได้ต่ำลง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้และภาวะการเงินที่ผ่อนปรนน่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยสินเชื่อภาคเอกชนแม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังขยายตัวในอัตราสูง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนง.ให้น้ำหนักกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าครั้งก่อนเล็กน้อย ซึ่งถือว่าไม่ผิดปกติอะไร เพราะยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินและความไม่แน่นอนของภาวะการเงินโลกที่ยังต้องติดตาม กนง.จึงดำรงการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กนง.มองว่าช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งออกระเตื้องขึ้น แม้จะมีข้อจำกัดด้านโครงสร้าง แต่เชื่อว่าจะพยุงให้การส่งออกกลับมาได้ ส่วนภาวะการเงินยังผ่อนคลาย เห็นได้จากสินเชื่อยังขยายตัวได้ดี มีส่วนสนับสนุนกการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
ส่วนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีแผนลงทุนในปี 57 อาจมีความชัดเจนมากขึ้นในอนาคตจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนก็เกิดขึ้นได้ แต่หากโครงการลงทุนภาครัฐมีปัญหา คงต้องมีการประมวลข้อมูลว่ามีผลกระทบกับเศรษฐกิจหรือไม่ แต่เบื้องต้นต้นประเมินว่าโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจำนวนเงินก็ที่จะเข้าไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ คงมีไม่มากนัก
ขณะที่ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศนั้น กนง.ยังติดตามข่าวสารทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และในที่ประชุมกนง.ได้มีการพูดถึงบรรยากาศการลงทุน รวมทั้งปัจจัยต่างๆ ว่าจะมีส่วนใดที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจอีกบ้าง
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนยังคงเป็นปัจจัยที่ กนง.ติดตาม โดยในส่วนของสินเชื่อภาคครัวเรือนนั้น แม้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะชะลอตัวลง แต่ยังถือว่าขยายตัวค่อนข้างสูง เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในการพิจารณากำหนดนโยบายการเงิน แต่ทั้งนี้ระดับหนี้สินภาคครัวเรือนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใดนั้นคงประเมินได้ยาก เพราะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น สาเหตุมาจากการขยายตัวของสินเชื่อรถยนต์ในโครงการรถคันแรกของภาครัฐ ดังนั้นเมื่อมาตรการสิ้นสุดลงจึงหมดการเพิ่มหนี้สินภาคครัวเรือน จึงทำให้หนี้ชะลอตัวลง และปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้นในระยะต่อไป
ทั้งนี้ กนง.ยอมรับว่าเศรษฐกิจอ่อนตัวลงกว่าเดิม แต่ตัวเลขที่ออกมาก็ไม่ได้ทำให้นโยบายการเงินเปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยเชื่อว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากสัญญาณของสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่มีเสถียรภาพมากขึ้นเป็นลักษณะ soft landing ซึ่งไม่น่าจะชะลอตัวลงมากไปกว่านี้ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณบวกมากขึ้น ดังนั้น การผ่อนคลายนโยบายการเงินในปัจจุบันจึงมีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจข้างหน้า แม้สินเชื่อจะชะลอลงบ้างแต่ยังสูงอยู่ที่ระดับ 13% ซึ่งทั้งหมดนี้เชื่อว่าจะเป็นแรงขับเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ส่วนความเสี่ยงด้านตลาดเงินนั้นเพิ่มขึ้น เพราะนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่จะทยอยปรับลดการกระตุ้นเศรษฐกิจลง ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งตลาดหุ้นทั่วโลก