ดังนั้น สมาคมฯจึงขอให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นมาตรการเร่งด่วน 5 ข้อดังนี้ ข้อแรกให้ภาครัฐลดเพดานการหัก Escalation Factor จาก +4 เปอร์เซ็นต์ เป็น +2 เปอร์เซ็นต์ เป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในระหว่างการปรับตัวเพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน, ขอให้ผู้ประกอบการก่อสร้างสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ไปยังโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่ผู้ประกอบการกำลังก่อสร้างอยู่ โดยสามารถเคลื่อนย้ายได้ทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาความขาดแคนแรงงานในภาคก่อสร้าง,
ขอขยายอายุสัญญางานก่อสร้างภาครัฐ ทั่วประเทศ 180 วัน ทั้งนี้เพราะผลกระทบการขาดแคลนแรงงานรุนแรงจึงทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งมอบงานตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขการส่งมอบได้, ขอให้หน่วยงานราชการใช้ค่าปรับรายวันในอัตราตายตัว 0.01 เปอร์เซ็นต์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากผลกระทบการขาดแคลนแรงงาน และให้ผู้ประกอบการก่อสร้างสามารถประกันผลงานของตนเองได้เมื่อผลงานก่อสร้างนั้นผ่านไปแล้ว 6 เดือน โดยไม่ต้องใช้ค้ำประกันจากธนาคาร เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารและเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน
"มาตรการเร่งด่วนทั้ง 5 ข้อนี้ขอให้มีผลกับสัญญาทุกสัญญาที่มีนิติสัมพันธ์กับภาครัฐช่วงระหว่างวันที่ 1 เม.ย.55 — 22 เม.ย. 56 ทั้งนี้ทางสมาคมฯจะได้นัดหมายเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อท่านนายกรัฐมนตรีต่อไป และเชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้ง 5 ข้อจะส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างมีความคล่องตัวและสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ร่วมถึงแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีคุณภาพได้" นายอังสุรัสมิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 55 อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีอัตราการเติบโต 17.3% มูลค่ารวมประมาณ 927,940 ล้านบาท โดยมีแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ 2.8 ล้านคน เป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 200,000 คน ทั้งนี้ค่าจ้างแรงงานจะคิดเป็นต้นทุนในการก่อสร้างประมาณ 25% สำหรับปี 56 อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 8.5% ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการลงทุนของภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็น 990,000 ล้านบาท