เงินบาทปิดตลาด 32.13/14 อ่อนค่าสุดรอบ 3 ปี จากเงินทุนไหลออก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 22, 2013 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.13/14 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 32.02/04 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากมีกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลออก ทั้งจากตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรที่มีแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันคาดว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลค่าเงินบาทเป็นระยะๆ
"เงินบาทกลับมาปิดที่ระดับไฮสุดในรอบ 3 ปี ระหว่างวันไม่ break 32.15 (บาท/ดอลลาร์) ก็ลง test ที่ 32.03 (บาท/ดอลลาร์) ตามแรงไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ระหว่าง 32.00-32.30 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 98.70 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระกับ 98.21/22 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3305 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3336/3338 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,351.81 จุด ลดลง 3.33 จุด, -0.25% มูลค่าการซื้อขาย 57,915.94 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 3,591.83 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอย ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนั้น รัฐบาลจะใช้แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยยึดตามมติครม.เมื่อวันที่ 6 ส.ค.56 โดยไม่จำเป็นต้องหามาตรการใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมอีก ส่วนกรณีที่เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าแตะระดับ 32.00 บาท/ดอลลาร์นั้น ถือว่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพ และจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยช่วงนี้มีเงินไหลออกค่อนข้างมาก ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นไปตามภาวะเดียวกันกับค่าเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ แต่เป็นการอ่อนค่าลงไปด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากัน ซึ่งมองในช่วงกลางๆ เห็นว่าเงินบาทมีค่าความผันผวนสูงขึ้น โดยในหลักการแล้วหากเงินบาทอ่อนค่าเร็ว ธปท.ก็จะเข้าไปดูแล
  • ผลสำรวจของมาร์กิต เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) เบื้องต้นของยูโรโซน ซึ่งรวมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ปรับตัวขึ้นแตะ 51.7 ในเดือน ส.ค.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน เทียบกับ 50.5 ในเดือน ก.ค. โดยดัชนี PMI รวมของยูโรโซนในเดือน ส.ค.ปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน แตะระดับสูงสุดนับแต่เดือนมิ.ย.2555 ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือน ส.ค.ขยายตัวสู่ระดับ 51.3 ซึ่งสูงสุดในรอบ 26 เดือน จาก 50.3 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นดีดขึ้นแตะ 51.0 ในเดือน ส.ค. ซึ่งสูงสุดในรอบ 24 เดือน จากระดับ 49.8 ในเดือน ก.ค.โดยยูโรโซนที่ขยายตัวแข็งแกร่งในเดือน ส.ค.ได้รับแรงหนุนสำคัญจากข้อมูลกิจกรรมทางธุรกิจโดยรวมของภาคเอกชนเยอรมนีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในเดือนนี้ ดัชนี PMI เบื้องต้นของเยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยูโรโซน ได้เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 53.4 จาก 52.1 ในเดือนก.ค. แม้ว่าดัชนี PMI ของฝรั่งเศสหดตัวลงแตะ 47.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบ 17 เดือนที่ 49.1 ในเดือนก.ค.
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) เบื้องต้นของภาคเอกชนฝรั่งเศสในเดือน ส.ค.ร่วงลงแตะ 47.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จาก 49.1 ในเดือน ก.ค.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน โดยดัชนีที่หดตัวรุนแรงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือน ส.ค.ทรงตัวที่ระดับ 49.7 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นปรับลงแตะ 47.7 ในเดือน ส.ค.ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เทียบกับ 48.6 ในเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) เบื้องต้นของภาคเอกชนเยอรมนีในเดือน ส.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้นแตะ 53.4 ซึ่งสูงสุดในรอบ 7 เดือน จาก 52.1 ในเดือน ก.ค. ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นที่ระดับ 52.0 ซึ่งสูงสุดในรอบ 25 เดือน จาก 50.7 ในเดือน ก.ค. ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นปรับขึ้นแตะ 52.4 ในเดือน ส.ค.ซึ่งสูงสุดในรอบ 6 เดือน เทียบกับ 51.3 ในเดือนก่อนหน้า
  • กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ เผยยอดค้าปลีกในเดือน ก.ค.ได้ปรับตัวลง หลังอุปสงค์ในประเทศอ่อนแรงเนื่องจากช่วงฤดูฝนที่ยาวนาน โดยยอดขายรวมของดิสเคาท์เอาท์เล็ทรายใหญ่ 3 แห่งของเกาหลีใต้ คือ อี-มาร์ท, ลอตเต้ มาร์ทและโฮมพลัส ปรับตัวลดลง 4.9% เทียบรายปี ส่วนยอดขายจากห้างสรรพสินค้า 3 แห่ง ได้แก่ ลอตเต้ ชินเซเก และฮุนได ลดลง 2.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ