สศอ.มองทรัพยากร-แรงงานราคาถูกจูงใจลงทุนเมียนมาร์ แต่ต้องศึกษากม.ให้ดี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 23, 2013 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)เปิดเผยผลการลงพื้นที่สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทางเลือกผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้นในการขยายการลงทุนในประเทศเมียนมาร์ร่วมกับ TDRI พบว่า GDP ของเมียนมาร์ ในปี 55 มีมูลค่าประมาณ 53.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 6.2 มีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 854 เหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างเศรษฐกิจของเมียนมาร์อยู่บนพื้นฐานของภาคเกษตรกรรมและการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไม้ซุง และอัญมณี คิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (54/55-58/59) ได้ตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมจาก ร้อยละ 26 เป็น ร้อยละ 32.1 ในด้านเงินสกุลจ๊าต (Kyat) ซึ่งเป็นเงินสกุลหลัก เมื่อเมษายน 2555 ที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float System) ทำให้ค่าเงินสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 980 จ๊าต/เหรียญสหรัฐฯ

ด้านระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะนี้ได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เอกชนในเมียนมาร์ 11 แห่ง จากทั้งหมด 19 แห่ง สามารถให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศ บริการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และให้เปิดบัญชีในสกุลเงินต่างประเทศได้ จากเดิมที่ให้เปิดบัญชีสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ กับธนาคารของรัฐเท่านั้น

นอกจากนี้ เมียนมาร์ยังอนุญาตให้หน่วยงานที่ไม่ใช่ธนาคารดำเนินการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศได้ อีกทั้งกฎหมายเมียนมาร์ว่าด้วยการลงทุนจากต่างชาติ (The Union of Myanmar Foreign Investment Law : MFIL) ได้ขยายระยะเวลาการเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 50 ปี และสามารถต่อสัญญาเช่าได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี จากเดิมที่กำหนดระยะเวลาเช่าที่ดินเพียง 30 ปี และต่อสัญญาเช่าได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 ปี

สำหรับปัจจัยที่จะเชิญชวนนักลงทุนจากนานาประเทศ คือ จำนวนแรงงานที่มีมากถึง 33 ล้านคน และต้นทุนแรงงานต่ำกว่าไทย นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จากประเทศพัฒนาแล้ว บนฐานความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลาย

จากสภาพปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยเกื้อหนุนที่กล่าวมา คงจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าไม่ควรมองข้ามเมียนมาร์ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ซึ่งอาจกลายเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นของไทย เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในอนาคต โดยรัฐบาลเมียนมาร์ได้ตั้งเป้าเพิ่มยอดส่งออกเครื่องนุ่งห่มเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ ซึ่งจะมาจากโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มประเภทตัด เย็บ และบรรจุหีบห่อ (Cutting Making and Packaging : CMP) ประมาณ 160 โรง เป็นของชาวพม่าร้อยละ 10 ของนักลงทุนต่างชาติที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีใต้ ร้อยละ 20 ที่เหลือเป็นโรงงานที่เป็นตัวแทนของชาวเกาหลีใต้และไต้หวันร้อยละ 70 เนื่องจากชาวพม่าจะเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจต่ำกว่า

สำหรับผู้ประกอบการไทยขณะนี้ได้เข้าไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการชาวพม่าแล้ว 1 ราย คือ Myanmar S.M.C. Garment ซึ่งผลิตสินค้าประเภทผ้าทอ มีแรงงานประมาณ 400 คน และอาจตามมาด้วยยักษ์ใหญ่ Sahaphat Group ของไทยที่เตรียมสร้างฐานการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค เช่น เสื้อผ้า อาหาร เครื่องสำอาง แห่งใหม่ในเมียนมาร์

นอกจากนี้หากพิจารณาทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมียนมาร์จะอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพในการเป็นประตูเปิดสู่ตลาดภายใน (Domestic Market) ของ 2 ประเทศผู้ยิ่งใหญ่อย่าง จีน และอินเดีย ที่มีปริมาณความต้องการในการบริโภคของประชากรถึงกว่า 2,585 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 36.45 ของประชากรโลก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระมัดระวัง เช่น ด้านกฎหมายเมียนมาร์ว่าด้วยการลงทุนจากต่างชาติ (The Union of Myanmar Foreign Investment Law : MFIL) ซึ่งยังมีการเปลี่ยนแปลง และเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องศึกษาให้ละเอียด อีกทั้งเรื่องเอกสารระบบราชการต่าง ๆ ค่อนข้างมีปัญหา โดยวิธีการแก้ไข คือ การมีหุ้นส่วนเป็นชาวพม่า นอกจากนี้ ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการซึ่งในระยะนี้อาจแก้ไขด้วยการติดตั้งเครื่องปั่นไฟไว้ใช้เองในโรงงาน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ