ส่วนการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ฤดูการผลิตปี 57 จะรับจำนำที่ราคา 13,000 บาท/ตัน จำกัดวงเงินการรับจำนำไว้ไม่เกิน 300,000 บาท/ครัวเรือน โดยคาดว่าจะใช้วงเงินสำหรับการรับจำนำข้าวทั้ง 2 รอบนี้ราว 2.7 แสนล้านบาท
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ คาดว่า จะนำเสนอผลประชุม กขช.ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ทันในพรุ่งนี้(27 ส.ค.) เพื่อรับทราบในเรื่องราคารับจำนำ และพิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินสำหรับใช้ในโครงการรับจำนำดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรนำข้าวเปลือกมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำทั้ง 2 รอบประมาณ 18 ล้านตัน แบ่งเป็น รอบแรกในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 56/57 ราว 15 ล้านตัน และรอบสองในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 57 อีกราว 3 ล้านตัน จากปริมาณผลผลิตข้าวในภาพรวมที่ราว 36-38 ล้านตัน โดย กขช.ประเมินผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวไว้ไม่เกิน 80,000 - 100,000 ล้านบาท เพื่อให้อยู่ในกรอบการรักษาวินัยการเงินการคลัง
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวด้วยว่า การจำกัดวงเงินการรับจำนำข้าวต่อครัวเรือนไว้ก็เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งหากเกษตรกรรายใดมีปริมาณข้าวที่เกินกว่าวงเงินที่ กขช.กำหนดไว้ก็ยังมีทางเลือกที่จะไปขายในตลาดได้อยู่แล้ว พร้อมกันนี้เชื่อว่าราคารับจำนำข้าวดังกล่าวจะเป็นที่พอใจต่อเกษตรกร และไม่เป็นปัญหาต่อราคาข้าวที่ส่งออกไปต่างประเทศ เพราะขณะนี้การระบายข้าวยังสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี สำหรับการรับจำนำข้าวชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ, ข้าวเปลือกหอมจังหวัด, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียวนั้น กขช.ได้คงราคารับจำนำไว้เท่าเดิม เพราะเกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 1 ครั้ง จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการรับจำนำ โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ รับจำนำที่ 20,000 บาท/ตัน, ข้าวเปลือกหอมจังหวัด 18,000 บาท/ตัน, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 16,000 บาท/ตัน, ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 16,000 บาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดสั้น 15,000 บาท/ตัน