(เพิ่มเติม) ธปท.ศึกษาใช้ทุนสำรองส่วนเกินตั้ง Opportunity Fund และการลงทุนในหุ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 27, 2013 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนในลักษณะ Opportunity Fund และศึกษาการลงทุนในหุ้นทุนต่างประเทศ เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุนด้วยทุนสำรองส่วนเกินที่ขณะนี้มีอยู่สูงเกินกว่าความจำเป็น และยืนยันว่าทุนสำรองฯเพียงพอที่จะรองรับการไหลกลับของเงินทุน รวมทั้งการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ แม้ว่าในอนาคตอาจจะยังมีเงินไหลออกไปอีก

สำหรับภาวะเงินไหลออก เป็นการเคลื่อนไหวตามเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ได้รับปัจจัยจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศหลัก หลังจากที่มีเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรราว 15% ของเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตร ธปท.แต่ก็เชื่อว่าแม้จะยังมีแนวโน้มของการไหลออกของเงินทุน ก็จะยังมีการถือลงทุนในตัวหลักอยู่

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า คณะทำงานจัดทำแผนปรับปรุงฐานะการเงินของ ธปท.(ทผง.)กำลังศึกษาแนวทางการขยายขอบเขตการลงทุน 3 กลุ่ม คือ แนวทางลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตภายใต้ พ.ร.บ.ธปท.ปัจจุบัน ซึ่งหากจะลงทุนจำเป็นต้องแก้กฎหมาย เช่น หุ้น (Equity) เป็นต้น นอกจากนี้ แนวทางการแยกสินทรัพย์ต่างประเทศส่วนที่สูงกว่าระดับที่จำเป็นมีไว้ และจัดตั้งเป็น New Opportunity Fund ซึ่งต้องออกกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มอัตราผลตอบแทนในระยะยาว โดยจะทยอยดำเนินการภายในปี 56-57

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะรับผลตอบแทนในการบริหารสินทรัพย์ต่างประเทศ จากที่ผ่านมา ธปท.ได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ธปท. ภายใต้ พ.ร.บ.ธปท.ที่ปัจจุบันดำเนินการอยู่แล้ว เช่น พันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่กำลังพัฒนา พันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น และหุ้นกู้ภาคเอกชน เป็นต้น

“ทผง.กำลังศึกษาแนวทางลงทุนที่กฎหมายยังไม่ได้อนุญาตให้ ธปท.ดำเนินการได้ ซึ่งธปท.อยู่ระหว่างศึกษาข้อดีข้อเสีย ผู้กำกับดูแล ความคาดหวังเรื่องผลตอบแทน ความเสี่ยงในการลงทุน โดยยอมรับว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงและหวือหวา แม้จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น คาดว่าจะสามารถศึกษาแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ ธปท.ตัดสินใจว่าจะเดินต่อหรือไม่ เมื่อไหร่และอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ต้องแก้กฎหมาย ไม่ใช่เรื่องง่าย"นางผ่องเพ็ญ กล่าว

แนวทางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปรับปรุงฐานะการเงินของ ธปท.นอกเหนือจากการทยอยเปิดเสรีบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ในปี 56-57 ใน 5 ด้านหลักคือ 1.การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 2.การลงทุนโดยตรง 3.บัญชีฝากเงินตราต่างประเทศ 4.การบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และ 5.การผ่อนคลายคุณสมบัติและขยายวงเงินในการประกอบธุรกิจ Money Changer/Money Transfer Agent ซึ่ง ธปท.จะทยอยเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายเฟส 2 ต่อเนื่องในปี 57 ที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานการณ์

ขณะเดียวกัน ธปท.จะทยอยลดขนาดการดำรงเงินสำรองระหว่างประเทศและให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น ซี่งยืนยันว่า ธปท.สามารถช่วยสนับสนุนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินตราต่างประเทศ จึงอาจมีส่วนทำให้เงินสำรองทางการอาจลดลงได้ 30-40% ในระยะต่อไป

อนึ่ง ฐานะการเงิน ธปท. ณ สิ้นปี 55 มีสินทรัพย์จำนวน 3.99 ล้านล้านบาท หนี้สินจำนวน 4.52 ล้านล้านบาท และส่วนของทุนติดลบ 530,892 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ผลขาดทุนสะสมรวมขาดทุนสุทธิประจำปี 442,376 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงปี 52-55 ของธปท.นั้น การขาดทุนส่วนใหญ่เกิดจากภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงกว่าดอกเบี้ยรับ (Negative Carry) 207,031 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่ทุนสำรองเงินตราฯ ณ สิ้นปี 55 มีสินทรัพย์ 2.22 ล้านล้านบาท หนี้สิน 1.40 ล้านล้านบาทจากการออกธนบัตรหมุนเวียนเป็นสำคัญ และส่วนของทุน 819,267 ล้านบาท

นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า เมื่อเงินบาทแข็งและอ่อนค่ารวดเร็ว ธปท.จะชะลอการแข็งและอ่อนค่าที่รวดเร็วของเงินบาทเป็นระยะ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ส่งออก รวมทั้งมีการดำเนินนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

“การซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อดูแลค่าเงินบาท ไม่ให้แข็งค่าเกินไป และการดูแลปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับการรักษาเสถีรยภาพเศรษฐกิจการเงินในประทเศ ส่งผลให้ ธปท.มีผลขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประทเศ และภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการดูดซับสภาพคล่อง"

ทั้งนี้ ยืนยันภาวะขาดทุนของ ธปท.จะไม่ส่งผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง โดยจากงานศึกษากรณีของธนาคารกลางต่างประเทศพบว่าหากธนาคารกลางยังรักษาแนวทางการดำเนินนโยบายให้มีความน่าเชื่อถืออยู่ได้ ผ่านการดำเนินงานที่โปร่งใส การรักษาความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบาย รวมถึงการสื่อสารต่อสาธารณะชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้เข้าใจและทราบถึงที่มาของการขาดทุนอย่างชัดเจนได้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ธนาคารกลางภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน

“ธปท.มีความพยายามลดทุนที่ติดลบอยู่ โดยการดูแลให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย แต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้นยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก"นางผ่องเพ็ญ กล่าว

อย่างไรก็ดี ธปท.เล็งเห็นว่าการขาดทุนเป็นระยะเวลานานคงไม่ใช่เรื่องดี เป็นปัญหาความเปราะบางพอสมควร ธปท.จึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินการปรับปรุงฐานะการเงินโดยใช้วิธีการทางการเงิน (Financial Measures) อย่างตรงจุด รวมถึงแนวทางต่างๆ ที่พึงกระทำได้ โดยยังรักษาอิสระในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาพของ ธปท. และคำนึงถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ