"แม้การให้บริการของไทยจะขึ้นชื่อในระดับโลก แต่ตอนนี้เริ่มสู้การให้บริการญี่ปุ่นไม่ได้แล้ว ขณะที่รอยยิ้มของไทยก็มีน้อยลงต่างจากอดีต ซึ่งพนักงานอาจจะเครียดจากกรณีที่นายจ้างกดดัน หรือใช้งานหนักเกินไป เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าจ้างหลังจากปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลควรหารือกับนายจ้างเพื่อให้มีการผลักดันเรื่องของการต้อนรับที่ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อไป เพราะตรงนี้คือสัญลักษณ์ของไทย" นายอัทธ์ กล่าว
ขณะเดียวกันไทยต้องเตรียมพร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 58 โดยการเร่งพัฒนาบุคลากรด้านภาษาให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว พร้อมทั้งส่งเสริมการศึกษาภาษาของประเทศเพื่อนบ้านด้วย สำหรับมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติของมาเลเซียและสิงคโปร์ จะเน้นเรื่องการให้ความสะดวกนักท่องเที่ยว การสร้างความสะอาดในประเทศ การดึงวัฒนธรรมการสร้างจุดเด่น เน้นใช้กลยุทธ์การตลาดเกี่ยวกับการโปรโมตกาสิโน การแข่งขันรถความเร็วสูง ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เป็นต้น
ปัจจุบันกลุ่มอาเซียนที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวมากที่สุดคือมาเลเซีย 25 ล้านคน รองลงมาเป็นไทย 22 ล้านคน สิงคโปร์ 14 ล้านคน อินโดนีเซีย 8 ล้านคน เวียดนาม 6.8 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 4.4 ล้านคน กัมพูชา 3.5 ล้านคน ลาว 3 ล้านคน เมียนมาร์ 600,000 คน บรูไน 250,000 คน หากไทยสามารถแก้ปัญหาเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง, ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว, การอำนวยความสะดวก, การปรับปรุงเรื่องอินเทอร์เน็ต, การส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในการสร้างจุดขาย คาดว่าในปี 63 ไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวมากที่สุดในอาเซียนแน่นอน
"มีการประเมินว่าในปี 63 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในมาเลเซีย 36 ล้านคน และไทยจะอยู่ในระดับ 34.5 ล้านคน และมีรายได้ 1.65 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 11.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่หากไทยมีมาตรการต่างๆ อย่างจริงจิงเชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยมากกว่า 36 ล้านคนและมีรายได้สูงเกิน 11.3%ของจีดีพี แน่นอน" นายอัทธ์ กล่าว