ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรียังระบุว่า ขณะนี้มีปริมาณต้นยางพาราจำนวนมากแต่มีผลผลิตน้อย ซึ่งจะนำเงินจากกองทุนสงเคราะห์หรืออัตราค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา(เงินเซสส์) ที่ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ในอัตรากิโลกรัมละ 2 บาท ทำให้ปัจจุบันกองทุนดังกล่าวมีเงินอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาทมาใช้ในการสนับสนุนให้เกษตรกรโค่นยางเก่าที่อายุเกิน 25 ปีที่มีอยู่กว่า 1 ล้านไร่เพื่อปลูกยางใหม่และมุ่งเน้นในการปลูกปาล์มน้ำมันแทน ซึ่งทางกระทรวงพลังงานมีแนวทางในการสนับสนุนให้นำปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นไบโอดีเซลเนื่องจะมีการปรับน้ำมันดีเซลจาก B5 ที่มีการจำหน่ายในประเทศเป็น B7 และในอนาคตมีแผนจะเปิดโรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซล 100%หรือB100ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดขนาดของโรงไฟฟ้า
พร้อมกันนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ ซึ่งตั้งแต่การประชุม กนย.เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมาทำให้ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้น โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายในการเข้าไปแทรกแซงราคายาง อย่างไรก็ตาม จะเสนอเรื่องทั้งหมดให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในวันอังคารที่ 3 ก.ย.นี้
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรในระยะเร่งด่วน ได้แก่ มาตรการที่ 1.อนุมัติงบกลางกรณีฉุกเฉินวงเงิน 5,628 ล้านบาทเศษ เพื่อเป็นค่าปุ๋ยโดยโอนผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้แก่เกษตรกรโดยตรง โดยเกษตรกรผู้ปลูกยางที่มีพื้นที่สวนยางน้อยกว่า 10 ไร่ จะได้รับการสนับสนุนค่าปุ๋ย 1,250 บาทต่อไร่ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนเกษตรกรที่ทำการเปิดกรีดยางแล้วจำนวน 9.8 แสนราย หรือ 80 % ของผู้ปลูกยางทั้งประเทศ ทั้งนี้ หากวงเงินไม่เพียงพอก็ให้มีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กนย.ติดตามสถานการณ์ปริมาณยางที่เหลือในครึ่งปีหลังเพื่อกำหนดมาตรการรองรับแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
มาตรการที่ 2 สนับสนุนให้กลุ่มสหกรณ์แปรรูปยางแผ่นดิบเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยกลุ่มสหกรณ์ฯ จะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.ในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย เพื่อนำไปสร้างโรงงานแปรรูปยาง ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนด้วยการชดเชยอัตราดอกเบี้ยในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท
มาตรการที่ 3.สนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตภัณฑ์ยางขนาดใหญ่ทั้งยางแท่งและยางแผ่น ที่กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องและปรับปรุงเครื่องจักรโดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยวงเงิน 15,000 หมื่นล้านบาท
"กระทรวงเกษตรฯ ได้การกำหนดนโยบายให้มีการโค่นต้นยางแก่อายุ 25 ปีขึ้นไป ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำยางที่กรีดได้ ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชอื่นทดแทนก็จะช่วยลดปริมาณการผลิตยางในประเทศได้อีกทางหนึ่ง โดยมาตรการดังกล่าวได้มอบหมายให้ สกย.เร่งสำรวจและดำเนินการทันที ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังคงต้องยืนยันว่าราคายางพาราต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ควรที่จะเข้าไปแทรกแซงราคาซึ่งจะบิดเบือนตลาดและทำให้ราคายางไม่มีเสถียรภาพในระยะยาว และยังยืนยันที่จะใช้มาตรการตามที่ กนย.อนุมัติไว้ก่อน ซึ่งการช่วยเหลือในเรื่องค่าปุ๋ยที่จะโอนเงินสดเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลางซึ่งเป็นผู้รวบรวมยาง ก็น่าจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในขณะนี้ได้" นายยุคล กล่าว