นอกจากนี้ ข้อมูลเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศล่าสุดยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง จากอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.0 และ 0.5 ต่อปี ตามลำดับ
ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 172.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดี ประกอบกับนโยบายการคลังจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพในช่วงที่เหลือของปี
"ภาวะเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณเป็นเศรษฐกิจวกกลับในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัว...เราหวังว่าจะเป็นการวกกลับที่ยั่งยืน เพราะเพิ่งจะวกกลับเป็นเดือนแรก(ก.ค.) ต้องขอดูเดือนถัดไป(ส.ค.)ด้วย" นายเอกนิติ ระบุ
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ สศค.ยังต้องติดตามต่อไป คือ ต้องพิจารณาว่าการวกกลับของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มดีขึ้นในเดือนก.ค.นั้น จะเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลก
อย่างไรก็ดี จะขอติดตามสถานการณ์ดังกล่าวไปอีก 1 เดือน โดยการแถลงภาวะเศรษฐกิจการคลังในเดือนหน้าจะมีการปรับประมาณการตัวเลข GDP ในปี 56 ใหม่ จากปัจจุบันที่ยังคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้ 4-5% โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5%
สำหรับภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ค.56 เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้ในภาพรวมยังคงขยายตัวชะลอลง โดยการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ค.56 แม้จะยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือน มิ.ย.56 กลับขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อเดือน โดยได้รับอานิสงส์จากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าเชื้อเพลิง ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่ปรับตัวดีขึ้น
สำหรับเครื่องชี้ด้านการบริโภคภาคเอกชน พบว่า ในภาพรวมยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ก.ค.56 จะหดตัวที่ร้อยละ -1.9 ต่อปี แต่หากพิจารณาในรายละเอียดของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี นอกจากนี้ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือน ก.ค.56 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 9.0 ต่อปี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างที่วัดจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.ค.56 กลับมาขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 29.9 ต่อปี
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือน ก.ค.56 จะยังคงหดตัวร้อยละ -3.6 ต่อปี แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า สามารถขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 ต่อเดือน
ขณะที่ น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมยังคงชะลอตัว ขณะที่เครื่องชี้ภาคบริการจากภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีมาก โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค.56 หดตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี และเมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าหดตัวเช่นกันอยู่ที่ร้อยละ -0.4 ต่อเดือน
ส่วนปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบในเดือน ก.ค.56 ขยายตัวร้อยละ 12.5 ต่อปี สะท้อนสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป ขณะที่การผลิตภาคการเกษตรมีสัญญาณชะลอลงเช่นกัน โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -2.7 ต่อปี และ -7.4 ต่อเดือน ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าว ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ายังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวดีจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นหลัก