สำหรับการประเมินปัจจัยในประเทศนั้น มองว่าเป็นเรื่องของโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่มีส่วนในการผลักดันประเทศให้เติบโตไปข้างหน้า ประกอบกับประเทศกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีการย้ายฐานการผลิตมาในไทยสะท้อนถึงการแข่งขันของไทยในระยะยาวได้
ทั้งนี้มองว่าความไม่แน่นอนในระยะสั้นยังมีอยู่มาก แนะนำให้เตรียมการบริหารความเสี่ยงให้พร้อมเสมอ ตรวจดูสถานะทางการเงินทุกครั้ง ก็จะทำให้รู้ว่าจุดอ่อน จุดแข็งเป็นอย่างไรโดยต้องตั้งหลักให้ดี
"การวิเคราะห์ความเสี่ยง หลักๆ เรื่องแรกที่ต้องดูคือ เรื่องดอกเบี้ย ในเมื่อหนี้เพิ่มสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจ รายจ่ายจะมากกว่ารายรับ ซึ่งจะกระทบกับกระแสเงินสด เรื่องที่สองคือต้องทำประมาณการเงินสดที่จะเข้ามา ถ้าทำธุรกิจกับการส่งออกอาจจะกระทบต่อเงินสดได้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนดึงราคาโภคภัณฑ์ลงไป ก็จะเห็นว่าจุดนี้เรารับได้แค่ไหน จุดไหนรับไม่ได้ และควรจะต้องทำอย่างไรต่อไปกับการดำเนินธุรกิจ" นายเชาว์ กล่าว
นายชูเกียรติ จิตติไมตรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บบส. สุขุมวิท กล่าวว่า การบริหารจัดการสินทรัพย์ท่ามกลางสถานการณ์ความเสี่ยงนั้น ในปัจจุบันบริษัทมีลูกหนี้รายย่อยกว่า 25,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ลูกหนี้รายย่อยจะเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ที่มีรายได้ประจำ และมียอดการชำระหนี้ในแต่ละเดือนที่ชัดเจน แต่ยังมีลูกค้าบางส่วนในกลุ่มนี้นำเงินในอนาคตมาใช้ ซึ่งหากมีการก่อหนี้เพิ่มในช่วงระยะเวลานี้ควรต้องใช้ความระมัดระวัง ซึ่งการบริหารจัดการของบริษัทฯ จะพิจารณาจากความสามารถของลูกหนี้ว่าจะจ่ายชำระหนี้ได้หรือไม่
ทั้งนี้มาตรการของธนาคารพาณิชย์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วย หลังจากที่ธนาคารต่างๆ เริ่มออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะภาคครัวเรือน จึงเป็นผลดีต่อลูกหนี้รายย่อยที่ต้องชะลอการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งธนาคารได้เปลี่ยนมาตรการจากการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ใหม่มาเป็นปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อยเก่าที่มีประวัติการชำระหนี้ดี
"รายย่อยคงจะต้องมาดูแลตัวเองมากขึ้น ถ้าเป็นธุรกิจก็ต้องมาดูฐานะทางการเงิน กระแสเงินสดของตัวเอง ประชาชนทั่วไปก็ต้องดูว่าเรามีรายได้ต่อเดือนเท่าไร ไม่ควรจะไปเพิ่มภาระหนี้ในอนาคต ซึ่งก็ต้องเข้มงวดในการจัดการมากขึ้น" นายชูเกียรติ กล่าว
นอกจากนี้จากการที่สถานการณ์มีความผันผวน มุมมองที่มีต่ออนาคตอันใกล้ มองว่าบริษัทยังคงมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดีอยู่ ซึ่งบริษัทยังมีปัจจัยเข้ามาสนับสนุน โดยยังมีสินทรัพย์รอขายในพอร์ตอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท การประมาณการณ์รายได้ที่เกิดจากทรัพย์รอขายคาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าในสิ้นปีนี้ จากที่นักลงทุนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ก็ยังคงมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยซื้อสินทรัพย์ที่ยังมีศักยภาพที่ดีกลับเข้าไปในพอร์ต และบริษัทยังมีลูกค้าที่อยู่ในพอร์ตอีกจำนวนมาก ซึ่งคาดการณ์ว่าจนถึงปลายปียังคงจะได้รับการชำระหนี้เป็นไปตามเป้าหมาย
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงค์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ในช่วงนี้มองว่ายังไม่ถึงขั้นวิกฤติ ซึ่งตลาดยังคงมีสภาพที่ดีอยู่ และอยากให้มองในเรื่องของ P/E ตลาดที่อยู่ที่ 20 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนคือ 5% โดยจากสถานการณ์ในขณะนี้อาจจะดูซึมลง ด้วยความคุ้นเคยที่ตลาดปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนะนำว่าอยากให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสของผู้ที่มีกำลังทรัพย์ในการมองหาลู่ทางที่ให้ผลตอบแทนที่ดี
อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดยังคงมีความผันผวนครอบคลุมทุกกลุ่มหลังจากดัชนีปรับตัวลงแรง โดยหุ้นกลุ่มที่จะกลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนได้คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย-ปันผลดี เช่น กองทุน BTS เห็นได้จากผู้ใช้บริการเติบโตต่อเนื่องทุกปี ซึ่งก็น่าจะมีผลกระทบน้อยกว่าหุ้นที่มีความหวือหวา โดยมีผลตอบแทนหรือปันผล 7% จากอายุสัมปทาน 17 ปี และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงไฟฟ้า ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจพอสมควร
นพ.สมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังต้องการการปรับตัวพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ มองว่าในเรื่องของทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญอย่างมาก หากมีบุคลากรที่มีศักยภาพจะส่งผลต่อผลิตผลให้ธุรกิจเติบโตได้ดี รวมถึงการคัดเลือกสินค้าเพื่อออกสู่ตลาด ต้องมีการสังเกตว่ามีการตอบรับมากน้อยเพียงใดจากที่ได้ลงโฆษณาไปแล้ว
นอกเหนือจากนี้คือผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องระมัดระวังเรื่องของการเงินจากการใช้เงินผิดประเภท และในช่วงที่เป็นวิกฤติต้องมีการเตรียมตัวที่ดี มีงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติความผันผวนและกลับมายืนได้ใหม่หรือกลับมาสร้างตัวได้
ส่วนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ช่วงนี้คงต้องรออีกสักระยะ เนื่องจากหลายรายการเริ่มมีราคาที่ปรับตัวลงมา แนะนำว่าเวลาซื้อควรมีการพิจารณาให้ดีทั้งมือ 1 และมือ 2 หากซื้ออสังหาริมทรัพย์มือ 1 ต้องดูแนวโน้มทำเลของสถานที่ว่าดีหรือไม่ โครงการมีขนาดใหญ่หรือไม่ เพราะหากเป็นโครงการใหญ่ซื้อไปแล้วโอกาสที่จะทำกำไรอาจจะลำบาก แต่หากซื้ออสังหาริมทรัพย์มือ 2 จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และควรซื้อกับเจ้าของที่แท้จริงและในราคาที่ถูก