ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกยางมาช่วยซื้อยางกับเกษตรกร ซึ่งจากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเซสในอัตรา 2 บาท/กก. เมื่อมีการลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงก็จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเพิ่มจำนวนการซื้อยางจากเกษตรกรได้ ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกก็จะมีช่องว่างในการแข่งขันกับคู่ค้ารายอื่นๆ ในการส่งออกยางไปต่างประเทศได้ ซึ่งได้มอบหมายให้องค์การสวนยาง (อสย.)ประสานผู้ส่งออกเพื่อมาหารือร่วมกันในวันนี้ที่กระทรวงเกษตรฯ
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยยางไปตรวจสต็อกของผู้ส่งออกทุกรายที่มีอยู่ขณะนี้ว่ามีเท่าไหร่และอยู่ทีไหนบ้าง เพื่อให้การงดเก็บเงินเซสที่กำหนดขึ้นส่งประโยชน์ถึงเกษตรกรได้อย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องการใช้ยางในสต็อค 2 แสนตัน เพื่อการบริโภคภายในประเทศนั้น ขณะนี้ก็มีความชัดเจนและเป็นนโยบายรัฐบาลแล้วว่าจะทำไปใช้ในด้านการคมนาคมและซ่อมแซมถนน โดยภายในสัปดาห์ก็น่าจะได้ข้อมูลผลการวิจัยที่กรมทางหลวงดำเนินการในการเรื่องการทำถนนยางพาราว่าจะเกิดปัญหาในด้านจราจรหรือไม่อย่างไร หากไม่มีปัญหาใดๆ ก็น่าจะเริ่มดำเนินการได้ทันทีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 ก.ย.นี้ จะนำเสนอมติคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ฝ่ายเศรษฐกิจที่ได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรที่มีพื้นที่ยางเปิดกรีดไม่เกิน 10 ไร่ และเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องเท่านั้น ในอัตราการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท วงเงินรวม 5,268 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมดำเนินการแจ้งให้เกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรมายื่นแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจากครม.มีมติ
ส่วนข้อเรียกร้องของเกษตรกรที่ต้องการให้ช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 10 ไร่เป็น 25 ไร่ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์นั้น นายยุคล กล่าวว่า จะรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้เสนอคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) พิจารณโดยเร่งด่วน และเสนอต่อไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ตามขั้นตอนอีกครั้งต่อไป