(เพิ่มเติม) ธปท.ระบุเศรษฐกิจ ก.ค.ชะลอลงต่อเนื่องตามส่งออกหดตัว แนะรอดูตัวเลข ส.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2013 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ค.56 ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงจากการซื้อรถยนต์และสินค้าคงทนอื่น ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังเปราะบางและข้อจำกัดด้านวัตถุดิบของไทย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวตาม อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลง อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการนำเข้าทองคำและการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศเป็นสำคัญ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงิน และดุลการชำระเงินขาดดุล

"เศรษฐกิจโดยรวมบางตัวชะลอลง แต่ไม่แรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา อยากให้รอตัวเลขเศรษฐกิจเดือนส.ค.อีกหนึ่งเดือนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่อยากพูดว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยัง ต้องดูตัวรวมหลายตัว ไม่ได้ดูเฉพาะตัวใดตัวหนึ่ง เพราะการดูตัวใดตัวหนึ่งไม่สามารถตอบภาพรวมทั้งหมดได้ ยอมรับความเสี่ยงช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีอยู่ตามที่ได้แถลงในการประชุมกนง.ครั้งที่ผ่านมา แต่เบื้องต้นตัวเลขเศรษฐกิจสรัฐที่แถลงมาล่าสุดก็ดีขึ้นโดยเฉพ่าะไตมาส 2 ที่ออกมาดีกว่าครั้งแรก"นายเมธี กล่าว

ธปท.ระบุว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 0.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการซื้อรถยนต์และสินค้าคงทนอื่น ซึ่งเป็นผลจากการส่งมอบรถยนต์ในมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรกที่ทยอยหมดลง รวมทั้งคำสั่งซื้อใหม่มีน้อยลง ขณะเดียวกันครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาระหนี้ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนยังขยายตัวสะท้อนจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

การส่งออกสินค้าลดลงจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลงและปัญหาด้านอุปทานจากการขาดแคลนกุ้งเนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด ส่งผลให้การส่งออกมีมูลค่า 18,804 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 1.3จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการหดตัวของการส่งออกสินค้าเกษตร ประมง และอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ การส่งออกยานยนต์ลดลงจากผลกระทบของปัญหาความไม่สงบในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ลดลงส่งผลให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวตาม โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 4.5 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการลดลงของ 1) การผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอลง 2) การผลิตอาหารทะเลแปรรูปจากปัญหาการขาดแคลนกุ้ง และ 3) การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ผู้บริโภคเปลี่ยนความนิยมไปใช้ Tablet และ Smartphone มากขึ้น

ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 5.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยเฉพาะของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ประกอบกับเป็นผลของฐานสูงในปีก่อนที่ผู้ประกอบการเร่งลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากมหาอุทกภัย อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชยกรรมที่เพิ่มขึ้น

"การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว 4.5% โดยเป็นการลดลงในกลุ่มอาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และยานยนต์ที่มีการส่งออกไปยังตะวันออกกลางลดลง เนื่องจากได้รับผลกรนะทบจากความไม่สงบ ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 5.4% เนื่องจากรถยนต์เชิงพาณิชย์ในโครงการรถยนต์คันแรกของภาครัฐสิ้นสุดโครงการ"นายเมธี กล่าว

ด้านการส่งออกสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลง ส่งผลให้การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และการนำเข้าสินค้าทุนลดลง ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัวได้ โดยการนำเข้ามีมูลค่า 18,546 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 0.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักการนำเข้าทองคำ การนำเข้ามีมูลค่า 17,137 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 4.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน

"ถ้าไม่รวมนำเข้าส่งออกทองคำ จะเห็นดุลการค้าเกินดุลมากขึ้นมาที่ 1,221 ล้านเหรียญฯ ดุลบัญชีเกินดุล 255 ล้านเหรียญฯ...สำหรับดุลบัญขีเดินสะพัดที่ขณะนี้ขาดดุลต่อเนื่อง ยอมรับว่าเป็นข้อสังเกตของ ธปท.แต่ไม่คิดว่าจะเป็นสาเหตุให้ต้องเข้าไปทำอะไรในขณะนี้ ไม่เหมือนอินเดียที่มีต้นเหตุจากการขาดดุลเนื่องจากมีการนำเข้าทองคำสูง ประกอบกับอินเดียก็มีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย"นายเมธี กล่าว

รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 1.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามผลผลิตที่หดตัวร้อยละ 2.7 จากการลดลงของผลผลิตข้าวเนื่องจากปริมาณน้ำไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกข้าว และปัญหาโรคระบาดในกุ้ง ส่วนราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคากุ้งที่ผลผลิตลดลง ราคาปศุสัตว์จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย และราคามันสำปะหลังที่มีความต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ราคายางพาราลดลงตามคำสั่งซื้อจากจีนที่ยังชะลอตัว ขณะที่ราคาข้าวต่ำลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลง

สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 2.2 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.5 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย และรัสเซียเป็นสำคัญภาครัฐ รายจ่ายค่าจ้างเงินเดือนและรายจ่ายลงทุนเพื่องานด้านชลประทานและคมนาคมเพิ่มขึ้นส่วนรายได้ขยายตัวตามการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตจากรถยนต์ลดลง รายจ่ายที่มากกว่ารายได้ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 41.9 พันล้านบาท

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2 ตามการชะลอตัวของราคาอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการนำเข้าทองคำ และการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากธุรกิจยานยนต์ที่ผลประกอบการค่อนข้างสูงประกอบกับค่าเงินเยนอ่อนลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงิน ส่วนดุลการชำระเงินขาดดุล

นายเมธี กล่าวว่า ความเสี่ยงต่างๆ ของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังก็คงต้องติดตามต่อไป แต่ประเมินว่าสำหรับการชุมนุมทางการเมืองส่งผลกระทบในวงจำกัด ไม่ลุกลาม ไม่ขยายตัว ส่วนการปรับขึ้นราคาพลังงานรวมในประมาณการแล้ว โดยเฉพาะได้มีการคำนวณการส่งผ่านราคาขายปลีกพลังงานที่อาจมีผลทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มั่นใจว่ายังอยู่ในกรอบที่คาดไว้ ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายห่วงภาวะเงินฝืด คงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

ขณะที่แนวโน้มสินเชื่อที่ชะลอตัวลงจนหลายฝ่ายเรกงว่าจะกระทบกับการบริโภคนั้น ธปท.ประเมินว่าแนวโน้มเบื้องต้นคงมีการชะลอแต่คงไม่ต่อเนื่อง เพราะการบริโภคสินค้าในหมวดไม่คงทนยังขยายตัวได้ ขณะที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี การว่างงานต่ำ แต่การบริโภคคงไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเห็นว่าก็เป็นข้อดีที่สินเชื่อชะลอลงสะท้อนว่าหนี้สินก็ชะลอลง ช่วยให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ