ภาคเอกชน ยก 6 ปัจจัยเสี่ยงอุตสาหกรรมไทยใน H2/56 วอนรัฐช่วยดูแล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 30, 2013 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรทัศน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการส่วนเตือนภัยอุตสาหกรรม สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมไทยในครึ่งปีหลังปี 2556 ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น, ปัจจัยเสี่ยงด้านการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ, ปัจจัยเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น, ปัจจัยเสี่ยงด้านการแข่งขันในตลาดที่มีความรุนแรง, ปัจจัยเสี่ยงด้านปัญหาขาดแคลนแรงงาน และ ปัจจัยเสี่ยงด้านความผันผวนของค่าเงิน

ปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการมองว่าส่งผลต่อการเพิ่มความสามารถในการผลิตอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่สามารถปรับตัวได้ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกเพราะผู้ประกอบการ 51.08% ไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ 48.92% มีการเตรียมควมพร้อมรับมือผลกระทบดังกล่าวด้วยการควบคุมเรื่องการทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานล่วงเวลา รองลงมาคือลดจำนวนพนักงาน และเพิ่มการใช้เครื่องจักรแทนเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย หาทางขยายตลาด เพิ่มช่องทางการขาย และสร้างรายได้เพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ลดการสต็อกวัตถุดินและสินค้า

ปัจจัยเสี่ยงด้านการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ พบว่าผู้ประกอบการ 61.46% มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเป็นปัญหาที่กระทบต่อเนื่องมาจากช่วงปี52 ที่เกิดวิกฤต Subprime ในสหรัฐ, ปี53 เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป สหรัฐใช้มาตรการ QE ส่งผลให้ค่าเงินผันผวนมาก, ปี54 เกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย

เหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างมากด้วยการมองหาตลาดใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด ชะลอการลงทุน และทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยง ส่วนที่ไม่ได้ตรียมพร้อม เพราะเห็นว่าเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือภาคเอกชน

ปัจจัยเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น โดยผู้ประกอบการ 80.18% มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือด้วยการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่ราคาถูกลงและกักตุนไว้ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆเพื่อรักษาระดับค่าคงที่ของต้นทุน ส่วนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมเพราะต้องการรักษาคุณภาพสินค้า

ปัจจัยเสี่ยงด้านการแข่งขันในตลาดที่มีความรุนแรง ซึ่งผู้ประกอบการ 88.51% มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือปัจจัยเสี่ยงนี้ด้วยการหาช่องทางตลาดใหม่ๆ กระจายสินค้าและประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีกว่าคู่แข่งด้วย

ปัจจัยเสี่ยงด้านการขาดแคลนแรงงาน ผู้ประกอบการ 86.33% มีการเตรียมพร้อมโดยการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน เพิ่มค่าแรง และสวัสดิการเพื่อจูงใจแรงงาน จัดฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษาและพัฒนาฝีมือในการทำงาน

ปัจจัยเสี่ยงด้านความผันผวนของค่าเงินบาท เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไม่ได้เตรียมความพร้อมเนื่องจากมองว่ารัฐบาลควรมีมาตรการรองรับในการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวน เพราะธุรกิจไม่สามารถควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าจะผันผวนไปในทิศทางใด ส่วนการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้านั้น หากไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงที่ธุรกิจต้องแบกรับ

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเพื่อรับมือปัจจัยเสี่ยง 26.38% เห็นว่าควรรักษาระดับอัตราค่าแรงไม่ให้สูงกว่านี้ รองลงมา 17.34% เห็นว่าควรลดหย่อนภาษีให้ดีขึ้น, 16.58% กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นเพิ่มโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการ, 15.34% เพิ่มนโยบายส่งเสริม คุ้มครอง และสิทธิประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มากขึ้นโดยเฉพาะ SMEs, 5.78% เห็นควรให้ช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ, 5.28% สร้างเครือข่ายทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มลูกค้าและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้มากขึ้น, 4.78% รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท, 4.02% ควบคุมราคาวัตถุดิบไม่ให้สูงขึ้น, 1.76% ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ให้มีศักยภาพมากขึ้นเพื่อจะได้ลดต้นทุนค่าขนส่ง, 1.26% แก้ปัญหาการเมืองเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน, 0.75% ช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพมากขึ้น, 0.50% ควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการ และ 0.23% เข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพของผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

ขณะที่ทิศทางการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 จากผลสำรวจ พบว่า 42% เห็นว่าไม่แตกต่างจากช่วงครึ่งปีแรกที่การผลิตชะลอตัว ขณะที่ 29.33% เห็นว่าการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ส่วน 28.67% เห็นว่าทิศทางการผลิตในครึ่งหลังจะแย่ลงจากครึ่งปีแรก

โดยอุตสาหกรรมที่มองว่าทิศทางการผลิตในครึ่งปีหลังจะไม่แตกต่างจากครึ่งปีแรก ได้แก่ อาหาร ยานยนต์ กระดาษ เครื่องนุ่มห่ม ส่วนอุตสาหกรรมที่เห็นว่าทิศทางการผลิตในครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี โลหะ เนื่องจากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น, คาดว่าค่าเงินบาทอ่อนตัวลงกว่าต้นปีจึงน่าจะผลิตเพื่อส่งออกได้เพิ่มขึ้น, ความต้องการสินค้าในช่วงปลายปีจะเพิ่มขึ้นจากเทศกาลต่างๆ, ครึ่งปีแรกมีการซ่อมบำรุงเครื่องจักรจึงผลิตได้น้อย, ปรับตัวจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้ดีขึ้น

ขณะที่อุตสาหกรรมที่เห็นว่าทิศทางการผลิตในครึ่งปีหลังจะแย่ลง ได้แก่ ยาง เคมีภัณฑ์ เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อจะลดลง โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากจีนในผลิตภัณฑ์ยาง, ธุรกิจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น, การแข่งขันในตลาดรุนแรงทำให้มีโอกาสในการขายลดลง, มีการลดกำลังผลิตเพื่อลดต้นทุนค่าแรง, ขาดแคลนแรงงาน ทำให้ผลิตได้น้อยลง, ครึ่งปีแรกมีการเติบโตสูงจากนโยบายรัฐบาล แต่ครึ่งปีหลังไม่มี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ