การเดินทางเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีนั้น ถ้าเป็นการเดินทางในอาเซียน ถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ประเทศสมาชิกต้องแลกเปลี่ยนการเยือนรวมถึงแนะนำตัวหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ขณะเดียวกันการเดินทางไปประเทศต่างๆ ยังเป็นการเปิดความสัมพันธ์ เปิดโอกาสความร่วมมือ ตลาดการค้า การลงทุน รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับเศรษฐกิจไทยอีกด้วย เช่น ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยเพิ่มสูงขึ้น การค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่รายงานว่าในปี 55 ที่นายกรัฐมนตรีร่วมในกิจกรรมโรดโชว์ในประเทศที่เยือน สามารถชักชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ถึง 31 โครงการ มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 137,770 ล้านบาท โดยนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ ได้กล่าวว่า การที่นายกเดินทางไปแนะนำประเทศไทยในต่างประเทศ เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ว่าไทยเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นการแสวงหาโอกาสใหม่ให้กับประเทศ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีจะมีการนำนักธุรกิจไทยในหลากหลายสาขาร่วมคณะไปด้วย โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และอื่นๆ อีกมาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศต่อภาคเอกชนของไทย รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยได้พบกับคู่ค้าใหม่ๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มผลผลิตให้กับห่วงโซ่การผลิตในประเทศได้เป็นอย่างดี เช่น การส่งออกผักและผลไม้ไปตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้น การร่วมก่อสร้างสาธารณูปโภคในต่างประเทศของภาคเอกชนไทย เป็นต้น
นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า วันนี้ธุรกิจไทยต้องการตลาดใหม่ ดังนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปหลายประเทศเพื่อช่วยแนะนำนักธุรกิจไทยให้กับต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางประเทศที่น้อยคนจะรู้จักแต่เป็นประเทศที่มีศักยภาพ ช่วยการค้า การส่งออกของไทยได้เป็นอย่างดี
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานอาวุโสหอการค้าไทย ได้กล่าวว่าการเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีที่พานักธุรกิจไปด้วยทำให้นักธุรกิจสามารถติดต่อกับหน่วยงานด้านการค้าของบางประเทศที่ภาคธุรกิจไม่สามารถติดต่อได้ด้วยตนเอง นับเป็นการเปิดประตูการค้าใหม่ๆ โดยการเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้งไม่ได้เป็นการท่องเที่ยว เพราะกำหนดการแน่นมาก เพื่อให้ได้มีโอกาสเจรจาการค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการประชุมถึง 19 การประชุมในรอบเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อทิศทางการบริหารประเทศของรัฐบาล และความเชื่อมั่นต่อศักยภาพและโอกาสของประเทศไทย เช่นในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่นายกรัฐมนตรีผลักดันให้ทุกประเทศยึดการเติบโตและพัฒนาไปด้วยกันและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รวมถึงการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง ที่ได้แสดงบทบาทให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างกันอีกด้วย