ส่วนจะมีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่จีดีพีจะขยายตัวน้อยกว่าร้อยละ 4 ต่อปี นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.4 บอกว่ามีโอกาสมากกว่า 50% นั่นหมายความว่ามีโอกาสมากกว่าครึ่งเช่นกันที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเกินร้อยละ 50 ตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ร้อยละ 85.2 คิดว่ารัฐบาลยังคงต้องใช้งบประมาณแบบขาดดุลอยู่ในปี 2560 มีเพียงร้อยละ 11.5 ที่คิดว่ารัฐบาลน่าจะใช้งบประมาณแบบสมดุลได้ตามที่ได้วางแผนไว้ และนักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 90.2 เชื่อว่ามีโอกาสมากกว่า 50% ที่รัฐบาลในช่วงปี 2560-2563 จะใช้งบประมาณแบบขาดดุลเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า “ระหว่างหนี้สาธารณะหนี้ภาคเอกชนและหนี้ครัวเรือนหนี้อะไรน่าเป็นห่วงที่สุด" ร้อยละ 63.9 บอกว่า หนี้ครัวเรือนน่าห่วงที่สุด รองลงมาร้อยละ 31.1 หนี้สาธารณะน่าห่วงที่สุด ขณะที่หนี้ภาคเอกชนไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดที่เห็นว่าน่าห่วง
สุดท้ายเมื่อถามว่า “หากรัฐบาลจะใช้นโยบายงบประมาณรายจ่ายสมดุลอย่างยั่งยืน" ในช่วงปี 2560 เป็นต้นไป รัฐบาลต้องดำเนินการอะไรบ้างในตอนนี้ อันดับ 1 เห็นว่าต้องหยุด เลิก โครงการประชานิยมต่างๆ ที่อยู่ในลักษณะชดเชยราคา การโอนความมั่งคั่ง ชเนื่องจากโครงการในลักษณะนี้เป็นโครงการที่ไม่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตให้สูงขึ้น อันดับ 2 เห็นว่าต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นเร่งด่วน มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับรัฐเมื่อโครงการแล้วเสร็จ หรือช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน
อันดับ 3 เร่งรัดการจัดเก็บภาษี การเพิ่มภาษี ต้องรีบผ่าน พ.ร.บ. กู้เงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมกับลดรายจ่ายไปด้วย อันดับ 4 ต้องมีวินัยทางการคลัง มีการติดตามการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง อันดับ 5 ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง และ อันดับ 6 อื่นๆ ได้แก่ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค การลงทุน ขยายกำลังซื้อในประเทศ ปรับเปลี่ยนวิธีใช้งบประมาณ คงต้องใช้งบประมาณแบบขาดดุลไปก่อน และคนไทยต้องอยู่อย่างพอเพียงช่วยตัวเองได้
กรุงเทพโพลล์ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 31 แห่ง จำนวน 61 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 22 —28 สิงหาคมที่ผ่านมา