มาตรการระยะปานกลางและระยะยาว โดยให้การสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพได้ใช้ประโยชน์จากโรงงานแปรรูปที่มีการสร้างไว้แล้วหรือลงทุนจัดสร้างโรงงานใหม่ เพื่อให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางโดยสถาบันเกษตรกรเพิ่มขึ้นโดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ในวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท และจัดสรรวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อสนับสนุนการขยายกำลังการผลิตและการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ในวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากสถาบันเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งเมื่อครม.มีมติให้ความเห็นชอบแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถเริ่มดำเนินในมาตรการต่างๆ ได้ทันที
นอกจากนี้ ยังลดการเก็บเงินสงเคราะห์ หรือเงินเซส เป็นเวลา 4 เดือน มีผลตั้งแต่ 2 ก.ย.-31 ธ.ค.56 ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ยังได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรทำแผนและขั้นตอนการดำเนินงานขึ้นทะเบียนและออกใบรับรองเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยใช้ทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรที่มีการขึ้นทะเบียนไว้แล้วเป็นกรอบในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามที่ กนย.เสนอแล้ว เกษตรกรสามารถมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ได้ตั้งแต่ วันที่ 4 -30 ก.ย.56 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ และเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแปลงเพื่อรับเงินค่าสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับข้อเรียกร้องให้มีการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ เป็นไม่เกิน 25 ไร่ และให้เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือด้วยนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโดยเร็วต่อไป
"จากการดำเนินมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการเข้าไปแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยาง รวมถึงรับฟังข้อเรียกร้องของผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางเมื่อวันที่ 28 ส.ค.56 ที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรหลายจังหวัดยอมรับแนวทางของรัฐบาล ซึ่งจากการรายงานของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดแจ้งว่าเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดระนอง เลย บึงกาฬ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ได้มีมติที่จะไม่มีการชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.56 และรอฟังผลมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้" นายยุคล กล่าว