เอกชนเล็งเสนอ รบ.ขยายเกษียณอายุเป็น 65 ปี แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2013 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เตรียมเสนอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาเกษียณอายุราชการและภาคเอกชนจาก 60 ปี เป็น 65 ปี เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีเวลาเตรียมความพร้อมพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับการขยายการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
"ปัจจุบันภาคธุรกิจในไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมาณ 1 ล้านคน หากไม่เร่งแก้ปัญหาจะมีผลต่อการตัดสินใจการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในอนาคตแน่นอน" นายภูมินทร์ กล่าว

สาเหตุที่ทำให้ภาคธุรกิจไทยขาดแคลนแรงงานส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด รวมถึงนโยบายการรับจำนำสินค้าเกษตรราคาสูงทำให้แรงงานย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรมากขึ้น

"หากกรรมการหอการค้าเห็นด้วยก็จะนำข้อสรุปดังกล่าวไปเสนอกับรัฐบาลเพื่อศึกษาผลดีและผลเสีย โดยข้อเสียในการขยายเวลาเกษียณอายุคือ จะทำให้พนักงานระดับกลางและระล่างเลื่อนตำแหน่งได้ยาก แต่ข้อดีคือจะช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนได้ ที่สำคัญสามารถช่วยให้ภาคธุรกิจไทยและภาครัฐมีเวลาเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแรงงานให้เพียงพอได้" นายภูมินทร์ กล่าว

นายภูมินทร์ กล่าวว่า หอการค้าไทยได้สำรวจผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศหลังมีผลบังคับใช้ 8 เดือน โดยพบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องหรือปัญหาต้นทุนธุรกิจ ระบุว่าสามารถแบกรับภาระได้เฉลี่ย 5 เดือน หากปรับตัวไม่ได้จะปิดกิจการ โดยหากแบ่งเป็นขนาดธุรกิจพบว่าธุรกิจขนาดย่อยรับภาระได้ 3 เดือน ขนาดกลางรับภาระได้ 6 เดือน และ ขนาดใหญ่รับภาระได้ 8 เดือน

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะต่อการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทว่า หลังจากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาคธุรกิจมีแนวทางปรับตัวโดยปรับขึ้นราคาสินค้า 39.7% ลดสวัสดิการ 26.5% การหาเครื่องจักรในการทดแทนแรงงาน 16.2% ลดจำนวนพนักงาน 11.7% เป็นต้น

ขณะเดียวกันมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทนั้นส่วนใหญ่ 73.1% ระบุว่ายังไม่ได้รับความช่วยเหลือ มีเพียง 26.9% ที่ได้รับแล้ว

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันนั้น ผู้ประกอบการ 25.2% ระบุปรับขึ้นราคาสินค้าแล้ว อีก 19.2% ระบุกำลังจะปรับเพิ่ม ส่วน 28.2% ระบุยังไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าแต่มีการลดปริมาณลง แลอีก 27.4% ระบุยังไม่ปรับขึ้น และปริมาณก็ยังเท่าเดิม

"ปีหน้าผู้ประกอบการจำนวนมากคงปรับขึ้นราคาสินค้า หลังจากที่มีการอั้นมานานจากเศรษฐกิจชะลอตัวและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับแนวทางที่รัฐบาลควรช่วยเหลือภาคธุรกิจจากผลกระทบการขึ้นค่าจ้างนั้น ส่วนใหญ่ต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และการส่งออกเพื่อกระตุ้นยอดขาย, ลดราคาสินค้าทุนหรืออุดหนุนทุนให้กับภาคธุรกิจ, พัฒนาคุณภาพบุคลากรและฝีมือแรงงาน, หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, กระตุ้นการลงทุน, ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ