สำหรับแผนปฏิบัติการขึ้นทะเบียนเกษตรกรปลูกยางพารา ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ 1.การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 - 30 ก.ย. 56 ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่เป็นพื้นที่ปลูกยางพาราของเกษตรกร 2.การตรวจสอบพื้นที่เป็นรายแปลงโดยคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดยางพาราระดับตำบล ประกอบด้วย ปลัด อบต./ ปลัดเทศบาล หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบร่วมเป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งจะดำเนินการภายใน 30 วัน หลังรับคำร้องขอขึ้นทะเบียน
3.การออกใบรับรองเกษตรกร ดำเนินการภายใน 15 วัน หลังผ่านการตรวจสอบพื้นที่จากคณะกรรมการฯ ซึ่งเกษตรกรจะนำใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ไปขอขึ้นเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อรับความช่วยเหลือตามโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ต่อไป
อนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งพัฒนาสถาบันเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ซึ่งประกอบด้วย แนวทางระยะสั้น เพื่อลดภาระต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีของเกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยจำนวนประมาณร้อยละ 74 ของเกษตรกรชาวสวนยางทั้งหมด และแนวทางระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางทำการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง สนับสนุนสถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพให้ใช้ประโยชน์จากโรงงานแปรรูปยางที่จัดสร้างไว้แล้ว และ/หรือลงทุนจัดสร้างโรงงานใหม่เพื่อแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์เบื้องต้น สนับสนุนผู้ประกอบการแปรรูปยางในการขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 14 ของยางที่ผลิตได้ในประเทศนั้น
ในส่วนของแนวทางระยะสั้น เพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราจำนวน 991,717 ราย ได้รับการสนับสนุนค่าปุ๋ยตามพื้นที่เปิดกรีด จำนวน 8,971,790 ไร่ รายละไม่เกิน 10 ไร่ ตามพื้นที่เปิดกรีดจริง โดยต้นยางมีอายุไม่เกิน 25 ปี และต้องเป็นเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิทำกินในพื้นที่นั้น ๆ ในอัตราไร่ละ 1,260 บาท ให้ได้รับความช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตเป็นเงินสดผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ระยะเวลาดำเนินการตุลาคม 2556 — พฤษภาคม 2557 นั้น
นายยุคล กล่าวว่า การที่รัฐบาลได้มีมติเพื่อช่วยเหลือในด้านปัจจัยการผลิตในครั้งจะส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้รับการลดต้นทุนค่าปุ๋ย นอกจากจะทำให้สวนยางพารามีผลผลิตเพิ่มขึ้น และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว เกษตรกรยังสามารถทำกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ เสริมในสวนยางพาราจะช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรในการพึ่งพารายได้จากการทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว