เย็นวานนี้ ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางจากภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สตูล กระบี่ ระนอง และพัทลุง จำนวน 23 คน ได้เข้าหารือร่วมกับ นายกิตติรัตน์ และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยนายอำนวย ยุติธรรม หนึ่งในแกนนำเกษตกร ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลให้รัฐบาลเสนอ 2 แนวทางให้รัฐทบทวนนโยบายแทรกแซงราคายาง โดยให้จ่ายเงินส่วนต่างที่ขาดอยู่เช่นราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ก็ให้ภาครัฐอุดหนุนเพิ่ม 20 บาท หรือข้อเสนอที่ 2 คือให้รับซื้อที่ 120 บาท/ก.ก. หรืออย่างน้อย 100 บาท/ก.ก.ซึ่งเป็นจุดที่พบกันครึ่งทางระหว่างข้อเสนอของภาครัฐที่ 80 บาท และเกษตรกรเสนอมาที่ 120 บาท/กก.
ตัวแทนเกษตรกรระบุว่า หากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้องทางแกนนำจะประกาศให้เกษตรกรชาวสวนยางออกมาชุมนุมที่ว่าการอำเภอในทุกจังหวัด แต่หากรัฐบาลรับข้อเสนอก็จะยกเลิกการปิดถนนและเส้นทางรถไฟที่ลงสู่ภาคใต้ทันที เนื่องจากการที่ราคายางตกต่ำทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท แต่หากจำหน่ายในราคากิโลกรัมละกว่า 70 บาท ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงต้องการเจราจาหาข้อยุติทุกรูปแบบ โดยหวังว่ารัฐจะไม่เลือกปฏิบัติ
ส่วนมาตรการการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 1,260 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 10 ไร่นั้น นายอำนวย กล่าวว่า คนกรีดยางจะไม่ได้รับเงินตรงส่วนนี้อย่างแน่นอน เพราะเงินจะโอนตรงไปยังเจ้าของสวนยางเท่านั้น และไม่มีทางที่เจ้าของสวนจะแบ่งเงินให้กับคนกรีดยาง จึงมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดและไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยขอให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้
นายอำนวย ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลกำลังเลือกปฏิบัติเมื่อเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวที่เมื่อชาวนาออกมาเรียกร้องรัฐบาลก็เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาทันที อีกทั้งรัฐบาลได้มีการปรับขึ้นค่าครองชีพทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้มและค่าทางด่วน แต่ในทางกลับกันสิ่งที่เกษตรกรสวนยางเรียกร้องยังไม่ได้รับการตอบสนอง หากรัฐบาลจริงใจก็ขอให้นำเงินงบประมาณที่เหลือมาช่วยพยุงหรือแทรกแทรงราคา โดยวันนี้อยากได้ตัวเลขเงินคงคลังหรือเงินที่จะสามารถช่วยเหลือได้บนพื้นฐานที่เกษตรกรรับได้และไม่ขาดทุนโดยจะนำข้อมูลจากที่ประชุมวันนี้กลับไปเสนอเกษตรกรอีกครั้ง
ด้านนายเอียด เซ่งเอียด แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางพารา กล่าวภายหลังการหารือเมื่อคืนนี้ว่า รู้สึกหมดหวังกับรัฐบาลที่ไม่รับตามข้อเสนอของเกษตรกร หลังจากนี้ตนเองจะยุติบทบาทผู้ประสานงาน และไม่ขอยุ่งเกี่ยวหากเกษตรกรจะยกระดับการชุมนุมทุกรูปแบบ พร้อมทั้งเตือนว่าหากรัฐบาลไม่เร่งเรีบแก้ไขปัญหาจะเกิดปัญหาลุกลามมากกว่านี้ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน จึงต้องจัดการชุมนุมขึ้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร โดยยืนยันว่าการชุมนุมในครั้งนี้ไม่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการหารือวานนี้เป็นไปอย่างเคร่งเครียด ซึ่งนายกิตตรัตน์ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนเกษตรกรได้สะท้อนปัญหาอย่างเต็มที่ โดยตัวแทนเกษตรกรพยายามจะหยิบยกปัญหาราคายางที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขราคารับซื้อมาที่กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ทางรัฐกลับไม่มีการพูดถึงเรื่องราคาต่อกิโลกรัม แต่พยายามจะพูดถึงเรื่องการส่งเสริมปัจจัยการผลิตเป็นหลัก โดยระบุเพียงจะนำข้อเสนอทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุม กนย.ในวันนี้เท่านั้น