(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคส.ค.ที่ 79.3 จากก.ค.ที่ 80.03

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 5, 2013 12:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ส.ค.56 อยู่ที่ 79.3 ลดลงจาก 80.03 ในเดือน ก.ค.56

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 69.5, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 71.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 96.7

"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนตั้งแต่ ธ.ค.55" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศ GDP ไตรมาส 2/56 ขยายตัวเพียง 2.8% ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด อีกทั้งปรับลด GDP ปี 56 เหลือโต 3.8-4.3%, ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ โดยเฉพาะยางและปาล์มน้ำมัน

การส่งออกในเดือน ก.ค.ที่มีมูลค่าลดลง 1.5% ทำให้การส่งออกในช่วง 7 เดือนของปีนี้โตเพียง 0.6% เท่านั้น, ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และความกังวลเกี่ยวกับสสถานการณ์ทางการเมือง

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่า

นายธนวรรธน์ คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนในปัจจุบันจะชะลอตัวลงจนถึงไตรมาส 4/56 เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงยังไม่มีสัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลและรอดูสถานการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองไทย ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ พบว่ากำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดในหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ และภาคตะวันออก ที่พบว่ากำลังซื้อลดลงอย่างชัดเจน

“การจับจ่ายใช้สอยในไตรมาส 3 อาจจะชะลอตัวต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4 ขณะที่การบริโภคในประเทศชะลอตัว การส่งออกทั้งปีคาดว่าจะโตได้เพียง 3% ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงคงเหลือเพียงภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือได้"นายธนวรรธน์ ระบุ

การปรับตัวดีขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะสามารถฟื้นตัวดีขึ้นได้จากปัจจุบัน หากรัฐบาลสามารถคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองให้มีเสถียรภาพโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อการท่องเทีทยวที่เป็นปัจจัยพยุงเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในปัจจุบัน ตลอดจนเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ