ทั้งนี้ในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 67.6% ระบุว่ารายได้ในปัจจุบันยังมีเพียงพอกับรายจ่าย แต่จะเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น, ลดการใช้จ่ายลง ส่วนกลุ่มตัวอย่างอีก 32.40% ที่ระบุว่ารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายนั้น ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น และใช้การกู้เงินนอกระบบ
โดยมีข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้ 1.ดูแลเรื่องราคาสินค้าไม่ให้มีการปรับตัวสูงเกินจริง 2.ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น 3.เพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชน เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และ 4.จัดบริการระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ ตรงต่อเวลา และมีความสะดวก ปลอดภัย
หากแยกทัศนะของประชาชนต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าในแต่ละประเภทนั้น ในส่วนของการปรับขึ้นราคา LPG พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 74.6% ไม่เห็นด้วยเลย เนื่องจากมองว่าจะทำให้ราคาสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันค่าครองชีพสูงอยู่แล้ว โดยเชื่อว่าผลกระทบที่จะได้รับจากาการปรับขึ้นค่า LPG คือ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น, ราคาสินค้าปรุงสุกต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น, ปริมาณอาหารปรุงสุกลดลงแต่ยังขายราคาเดิม และส่งผลให้ต้องซื้อสินค้าชนิดอื่นลดน้อยลง
ส่วนการปรับขึ้นค่า FT พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 40.2% ระบุว่าได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง โดยมีประชาชนเพียง 1.5% ที่ระบุว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่อีก 6.7% ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ทั้งนี้การปรับขึ้นค่า FT นั้นไม่ได้ทำให้การใช้ไฟฟ้าของประชาชนส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนการปรับขึ้นค่าทางด่วน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เกือบ 60% ระบุว่าได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง จนถึงมาก และมากที่สุด ทั้งนี้มีการปรับตัวโดยเลือกใช้วิธีการลดจำนวนขึ้นทางด่วนให้น้อยลง รองลงมา คือขึ้นทางด่วนเฉพาะที่จำเป็น และหันไปใช้รถไฟฟ้าแทน
อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,208 ตัวอย่างทั่วประเทศ ดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 30ส.ค.-3 ก.ย.56