นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรที่ต้องการให้ประกันราคายาง เนื่องจากจะทำให้ราคายางในตลาดอ่อนตัวลง เพราะมีผู้ต้องการแสวงหาผลกำไรจากส่วนต่างของราคา พร้อมยืนยันว่าแนวทางที่รัฐบาลใช้มีเกษตรกรที่เข้าใจและรับได้กับเงื่อนไขของรัฐบาล
"การประกันราคาจะทำให้ราคาตลาดอ่อนตัวลง เป็นข้อสังเกตของผมซึ่งมีหลักฐานมาแล้วว่าตลาดจะรับรู้ว่ามีคนเข้ามาใสวงหาผลประโยชน์จากส่วนต่างราคา ดังนั้นจึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่การจะทำให้ราคายางในตลาดสูงขึ้นต้องขอเวลาทำงานอีกหน่อย"นายกิตติรัตน์ กล่าว
"ผมไม่เคยพูดเลยว่า 1,260 บาทจะจ่ายเป็นค่าปุ๋ย แต่เป็นการจ่ายเงินสดโดยตรง และอยากให้ม็อบเข้าใจการทำงานของรัฐบาล โดยเชื่อว่าหลังจากนี้ราคายางในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน จากอุตสาหกรรมภายในประเทศมีแนวโน้มจะใช้วัตถุดิบจากยางพาราเพิ่มขึ้น"นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม กนย. ยังเห็นชอบผ่อนปรนหลักเกณฑ์สำหรับผู้ถือเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดินจากเดิมที่เกรงว่าจะเข้าข่ายการถือครองที่ดินผิดประเภทก็ได้ผ่อนปรนให้อีกกว่า 30 ประเภทที่มีสิทธิ์จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,260 บาท/ไร่ ยกเว้นกรณีเดียว คือ กรณีที่มีการบุกรุกที่ป่าสงวน
ขณะเดียวกันที่ประชุมฯได้เห็นชอบขยายหลักเกณฑ์การช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตให้ครอบคลุมถึงผู้ปลูกยางจำนวนไม่เกิน 25 ไร่ จากเดิมที่จะให้เฉพาะผู้ปลูกยางจำนวนไม่เกิน 10 ไร่เท่านั้น คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุม กนย.เสร็จสิ้นลงนายกิตติรัตน์ได้นำผลการประชุมรายงานให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรับทราบในทันที