ชาวนา ยันไม่ประท้วงเรียกร้องเพิ่มราคาจำนำแม้ไม่พอใจราคา-พาณิชย์ แจงดูแลเหตุเสี่ยงเสียหายมากกว่ายาง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 5, 2013 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ยืนยันว่า ชาวนาทั่วประเทศจะยังไม่เดินขบวนประท้วงรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มราคารับจำนำข้าว แม้บางส่วนจะไม่พอใจราคารับจำนำข้าวนาปรังที่ตันละ 13,000 บาท ซึ่งระดับราคาดังกล่าว ยังดีกว่าที่รัฐบาลไม่ทำโครงการรับจำนำต่อ ขณะเดียวกันต้องการให้รัฐบาลดูแลปัจจัยการผลิตอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงมาก และทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาเพิ่มขึ้น

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า รัฐบาลยืนยันจะรับจำนำข้าวเปลือกปี 56/57 ในราคาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 3 ก.ย.56 ซึ่งข้าวเปลือกนาปี(ครั้งที่ 1) ราคารับจำนำข้าวเปลือกทุกชนิด ณ ความชื้น 15% ยังเป็นราคาเดิม โดยราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท และเมื่อสิ้นสุดโครงการ หากวงเงินเหลือจะนำมารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง(ครั้งที่ 2) แต่ปรับลดราคาลง โดยข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 13,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกชนิดอื่นยังคงราคาเช่นเดียวกับนาปี(ครั้งที่ 1) ซึ่งมีเป้าหมายรับจำนำทั้ง 2 ครั้ง 16.5 ล้านตัน

ทั้งนี้ เกษตรกรทุกรายสามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่รัฐบาลได้จำกัดวงเงินรับจำนำของเกษตรกรแต่ละราย โดยในการรับจำนำครั้งที่ 1 จำกัดวงเงินรับจำนำไม่เกินครัวเรือนละ 350,000 บาท ส่วนครั้งที่ 2 ไม่เกินครัวเรือนละ 300,000 บาท ระยะเวลารับจำนำครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1ต.ค.56-28 ก.พ.57 ส่วนครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มี.ค.-30 ก.ย.57

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะไม่รับจำนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วันที่มีคุณภาพต่ำจำนวน 18 พันธุ์ เช่น พวงทอง, พวงเงิน, พวงแก้ว, ขาวปทุม, โพธิ์ทอง, ขาวคลองหลวง, ขาวมาเล เป็นต้น

"ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมฯ ตรวจสอบเครื่องชั่งน้ำหนัก และเครื่องวัดความชื้นเพื่อเตรียมความพร้อม โดยจะให้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อน จากนั้นจะตรวจสอบในพื้นที่ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เพื่อป้องกันไม่ให้โรงสีที่เปิดจุดรับจำนำ เอาเปรียบเกษตรกร" อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว

พร้อมยืนยันว่า การที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องดูแลชาวนา เพราะชาวนาส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการผลิตด้วยตนเอง และข้าวเป็นพืชที่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายมากกว่ายางพารา เช่น ประสบภัยธรรมชาติ ศัตรูพืช ฯลฯ ขณะนี้สินค้าเกษตรอื่น เช่น ยางพารา มีหน่วยงานหรือองค์กรดูแลเป็นการเฉพาะมานานแล้ว ทั้งสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ